อิวาน ฟาลส์ (Iwan Fals) เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรีของแนวป็อปร็อคและโฟล์กคันทรีชาวอินโดนีเซีย เขาเติบโตขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายและอุณหภูมิการเมืองอันร้อนระอุของอินโดนีเซียในยุคระเบียบใหม่ เนื่องจากเพลงของเขามีเนื้อหาวิพากษ์วิจาณ์การเมืองและสะท้อนสังคมในยุคเผด็จการ บรรดาแฟนเพลงของเขาจึงตั้งฉายาว่า “บ็อบ ดีแลน แห่งอินโดนีเซีย”
อิวาน ฟาลส์ (Iwan Fals) มีชื่อจริงว่า วีร์กีอาวัน ลิสตันโต (Virgiawan Listanto) เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 1961 ที่กรุงจาการ์ตา เขาเริ่มหัดร้องเพลงและฝึกดีดกีตาร์มาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม โดยมักออกร้องเพลงแลกเหรียญรูปีตามท้องถนนในเมืองบันดุงซึ่งเขาใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กที่นั่น อิวาล ฟาลส์ร้องเพลงเรื่อยมาจนกระทั่งเริ่มเป็นที่รู้จัก เพลงของเขามีเนื้อหาเสียดสีความอยุติธรรมของสังคม หรือที่รู้จักในนามเพลงประท้วง เพลงแรกที่เขาเขียนขึ้นพูดถึงลูกชายรัฐมนตรีที่ก่อคดียิงคนตายโดยไม่ถูกลงโทษ ต่อมาเขาก็ได้รับการเชิญชวนจากโปรดิวเซอร์คนหนึ่งในกรุงจาการ์ตาไปบันทึกเสียง
อิวาล ฟาลส์ย้ายมาอยู่ในกรุงจาการ์ตาเมื่ออายุได้มีอายุ 18 ปี พอดี เขากับเพื่อนอีกสามคนคือ โตโต้ กูนาร์โต (Toto Gunarto) เฮลมี บาห์เฟ็น (Helme Bahfen) และบัมบัง บูเล (Bambang Bule) ร่วมกันก่อตั้งวงดนตรีชื่อว่าอัมบูราดุล (Amburadul) และได้ออกอัลบั้มแรกชื่อว่า Perjanlanan (1979) แต่อัลบั้มดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี อัลบั้มแรกของเขากลายเป็นของสะสมที่หายากสำหรับแฟนเพลงที่ติดตามและสนับสนุนตลอดมา
ต่อมา อิวาล ฟาวส์ เข้าร่วมแข่งขันแสดงดนตรีในงานเทศกาลเพลงคันทรี่และได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้เขาเริ่มหันมาร้องเพลงแนวป็อปคันทรี่และได้ออกอัลบั้มอีกครั้ง แต่ก็ประสบกับความล้มเหลวเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม อิวาล ฟาวส์ยังคงใฝ่ฝันและยืนหยัดชีวิตบนเส้นทางของนักดนตรีอาชีพต่อไป จนกระทั่งอยู่ภายใต้การดูแลของมูสิคา สตูดิโอ (Musica Studio) เพลงของเขาออกมาในน้ำเสียงที่จริงจังมากยิ่งขึ้น อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขา Sajarna Muda (1981) แสดงให้เห็นถึงดนตรีแนวป็อปคันทรี่อันเป็นสัญลักษณ์ของเขา อัลบั้มนี้เพลง Oemar Brakrie ซึ่งกล่าวถึงครูยากจนคนหนึ่งที่ยังปั่นจักรยานคันเก่าไปสอนหนังสือ แต่เงินเดือนกลับลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นเพลงที่พลิกผันให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ และในปี 1987 เขาได้รับรับเชิญไปแสดงดนตรีออกอากาศในรายการ Manasuka Siaran Niaga ทางช่องโทรทัศน์ TVRI ซึ่งในครั้งนั้นเพลง Oemar Bakri ก็ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง TVRI อีกด้วย นับเป็นครั้งแรกที่อิวาล ฟาวส์ได้ทำความรู้จักกับผู้ฟังทั่วประเทศ
ในยุคซูฮาร์โต เนื่องจากรัฐบาลกลัวว่าจะเกิดจลาจล การแสดงสดของอิวาน ฟาลส์จึงถูกรัฐบาลห้ามหลายครั้ง ทำให้รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายเทปคาสเซ็ตตามงานแสดงของพวกเขา การแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกโดยไม่เก็บค่าผ่านประตูที่จาการ์ตาดึงดูดแฟนเพลงเป็นแสนๆ คน แต่จบลงด้วยการเกิดจราจลและเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องออกมาระงับการแสดงคอนเสิร์ตลงชั่วคราว แม้ว่าการแสดงสดจะถูกห้าม แต่เทปคาสเซ็ตของอิวาน ฟาลส์ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กลับไม่ถูกห้ามแต่อย่างใด เช่น เพลง Puing (1988) มีเนื้อหาเรียกร้องประชาธิปไตย ด่าทอผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่ฉ้อฉลและเห็นจคนยากคนจน และเพลง Pinggiran Kota Besar (1989) ที่โจมตีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเป็นต่อคนในสลัม และเรียกร้องให้เรัฐหันมามองปัญหาเหล่านี้ เป็นต้น แน่นอนว่าอิวาน ฟาลส์ กลายเป็นไอดอลคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ใส่ใจปัญหาสังคมการเมืองอย่างมากมาย ชื่อและเพลงของเขาปรากฏไปในทุกที่ ไม่ว่าท้องถนนหรือฝาฝนังกำแพง
ในปี 1989 อิวาน ฟาลส์ กับคนอื่นๆ ร่วมก่อกันตั้งวงสวาวี (Swami) ขึ้น แนวเพลงได้ผสมผสานความเป็นป็อปร็อค แจ็ซและแร๊พเข้าด้วยกัน แต่คงสัญลักษณ์และน้ำเสียงของเพลงประท้วงไว้ อัลบั้มแรก Swami I (1989) ของวงสวามีนำเสนอเพลงประท้วงอย่างเปิดเผย มีเพลงที่โด่งดังและโดดเด่นที่สุดคือเพลง Bongkar ซึ่งพูดถึงปัญหาการคอรัปชั่นจะต้องถูกกำจัดไป และเพลง Bento ซึ่งเสียดสีนักธุรกิจที่ร่วมมือกับชนชั้นสูงในการเอารัดเอาเปรียบ ด้วยเหตุนี้ ทำให้การแสดงคอนเสิร์ตของพวกจึงถูกห้ามแสดงบางเพลง แต่ก็ถูกฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่มีผลกระทบใดๆ อย่างไรก็ตาม การแสดงคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งซึ่งมีคนเข้าฟังร่วมสองแสนคน ผลที่ตามก็คือหลังปี 1991 คอนเสิร์ตของพวกเขาได้รับอนุญาตให้แสดงน้อยมาก แต่อิวาน ฟาลส์กลับได้รับความนิยมอย่างมหาศาล และเพลงของเขาถูกใช้เพื่อแสดงการต่อต้านและประท้วงของนักกิจกรรมและนักศึกษาในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากซูฮาร์โตลงจากอำนาจและกระแสเรียกร้องการปฏิรูป อิวาน ฟาลส์ก็ได้ออกอัลบั้ม Salam Reformasi (1998) เฉลิมฉลองชัยชนะของประชาชนต่อระบบเผด็จการ
อิวาล ฟาวส์เติบโตมาในยุคที่อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการซูอาร์โต เขาเห็นสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความอดยากหิวโหย ความยากจนแร้นแค้นและความสิ้นหวังของผู้คน เพลงของเขาจึงมีน้ำเสียงประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่อสภาพความไม่เป็นธรรมดังกล่าว แม้ส่งผลให้การแสดงคอนเสิร์ตถูกห้ามไม่ให้แสดงหลายครั้งและเทปคาสเซ็ตหลายอัลบั้มถูกเก็บออกจากแผง แต่เขาก็ไม่เคยหยี่หระต่ออำนาจเผด็จการ ในปี 2002 นิตยสาร Time นำรูปเขาขึ้นปกพร้อมกับข้อความ “ฮี่โรแห่งเอเชีย” ยกย่องบทบาทในการมีส่วนร่วมกับประชาชนโค่นล้มเผด็จการซูฮาร์โต ในปี 2009 นิตยสาร Rolling Stone Indonesia ได้บรรจุเพลงของเขาอยู่ในทำเนียบ 150 เพลงอินโดนีเซียที่ดีที่สุดตลอดกาล สำหรับเพลงของอิวาน ฟาลส์อาจเปรียบได้กับเพลงเพื่อชีวิตไทยที่เคยรุ่งเรื่องในช่วงกระบวนการนักศึกษาออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร เช่น วงคาราวาน กรรมาชน หรือคาราวาน เป็นต้น แม้ว่าเพลงเพื่อชีวิตไทยระยะหลังสะท้อนลักษณะที่ค่อนข้างโน้มเอียงไปทางเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย แต่ในยุคหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงเพื่อชีวิตอยู่ในกระแสเพลงประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Baulch, E. (2007). Making Scenes: Reggae, Punk, and Death Metal in 1990s Bali. USA: Duke University Press.
Emmerson, D. K. (1999). Indonesia Beyond Suharto. USA: M.E. sharpe.
Bourchier, D., & Hadiz, V. (2003). Indonesian Politics and Society: A Reader. USA: RoutledgeCurzon.
Lockard, C. A. (2001). Dance of Life: Popular Music and Politics in Southeast Asia. USA: University of Hawai'i press.