อินูล ดาราติสต้า (Inul Daratista) เป็นนักร้องเพลงดังดุตชาวอินโดนีเซีย ที่ดังระเบิดเถิดเทิงอย่างมากในช่วงปี 2003-2004 การปรากฏตัวของเธอบนพื้นที่สื่อระดับชาติในปี 2003 สร้างความฮือฮาพร้อมกับการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนไปทั่วหัวระแหงในอินโดนีเซีย
อินูล ดาราติสต้า มีชื่อจริงว่า ไอนูล รอคีมะฮ์ (Ainur Rokhemah) เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี 1979 ในครอบครัวซึ่งนับถืออิสลาม ที่เมืองปาซูรูอัน จังหวัดชวาตะวันออก ช่วงวัยรุ่นเธอร้องเพลงแนวร็อคแอนด์โรลและเพลงตะวันตกร่วมสมัย แต่ภายหลังเปลี่ยนแนวไปร้องเพลงดังดุตซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในอินโดนีเซีย โดยใช้ชื่อสำหรับการแสดงบนเวทีว่าอินูล ดาราติสต้า (อีนูล นมทอง) อย่างไรก็ดี ก่อนจะกลายเป็นนักร้องหญิงที่ทุกคนมองหามากที่สุดในปี 2003-2004 นั้น อินูล ดาราติสต้าเป็นเพียงนักร้องดังดุตระดับท้องถิ่นที่ร้องเพลงตามงานแต่งงานและงานรื่นเริงต่างๆ แถบจังหวัดชวาตะวันออก จนกระทั่งเมื่อบันทึกการแสดงของอินูล ดาราติสต้า ซึ่งแพร่กระจายในรูปแบบวีซีดี (VCD) ทั่วอินโดนีเซีย เกิดไปต้องตากับบริษัทบันทึกเสียงแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตาเข้า บริษัทจึงเซ็นสัญญารับเธอเป็นนักร้องในสังกัด และมีนักแต่งเพลงชื่อดังเอินดัง คูร์เนีย (Endang Kurnia) เป็นผู้แต่งเพลงให้
ภายใต้สังกัดบริษัทและการสนับสนุนจากนักแต่งเพลงฝีมือดี อัลบั้ม Goyang Inul (2003) คืออัลบั้มที่สองในชีวิตการร้องเพลงที่โด่งดังและกลายเป็นอัลบั้มเพลงดังดุตที่ดีที่สุดของอินูล ดาราติสต้า ส่งผลให้เธอปรากฏตัวบนเวทีในที่ต่างๆ หลายที่ทั่วประเทศ เพลงดังอย่าง Goyang Inul คือเพลงที่กล่าวได้ว่าเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีช อันที่จริง ความสำเร็จและความโดดเด่นของอินูล ดาราติสต้านั้นมาจากรูปแบบการแสดงของเธอเอง ที่แตกต่างจากนักร้องหญิงดังดุตช่วงทศวรรษ 1990 และยุคเดียวกันอย่างมาก กล่าวคือการขับร้องจะถูกขั้นจังหวะด้วยเสียงร้องครวญครางแบบมีอารมณ์ทางเพศ ทำหน้าตาบิดเบี้ยว อ้างปากค้างและครางเสียงแหลม ในขณะที่บนเวทีการเล่นดนตรีอันไม่เคยหยุดนิ่งของดังดุต มาจากผสมผสานดนตรีดังดุต ดนตรีร็อคแบบหนักๆ และการร่ายรำแบบไจปองอัน (Jaipongan) ทั้งหมดนี้ในบางครั้งก็เรียกว่าดังดุตดิสโก้ เพราะมีการเน้นการเต้นอย่างมาก ท่าเต้นอันลือลั่นที่ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอินูล ดาราติสต้าคือ Goyang Ngebor ซึ่งแปลว่าควงสว่าน อันเป็นการเต้นโดยส่ายสะโพกและหมุนวนเป็นเกลียวอย่างรวดเร็วคล้ายกับการหมุนสว่าน
อินูล ดาราติสต้ากลายเป็นเป็นที่ถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในพื้นที่สาธารณะ และได้รับความสนใจจากชาวอินโดนีเซียอย่างกว้างขวาง โดยเริ่มต้นจากการที่เธอได้รับเชิญจากสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งให้ไปแสดงคอนเสิร์ต ที่กรุงจาการ์ตาในปี 2003 ทั้งรูปแบบการร่ายรำแบบที่เรียกได้ว่ายั่วกามารมณ์และท่าเต้นอันน่าตะลึงพรึงเพริดที่ที่เรียกว่าควงสว่าน ส่งผลให้เธอได้รับความสนใจในระดับชาติทันที องค์อิสลามสายอนุรักษ์นิยมบางกลุ่มก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ประกาศห้ามเธอขึ้นแสดงคอนเสิร์ต นอกจากนี้ อินูล ดาราติสต้ายังถูกวิจารณ์จากนักร้องดังดุตคนอื่นๆ อีกด้วย โดยคนที่โดดเด่นที่สุดคือราชาดังดุติย่างโรมา อิรามา ที่ถึงกับออกมาวิจารณ์ว่าท่าเต้นของเธอนั้นกำลังทำให้ดังดุตที่เขาพยายามฟูมฟักสร้างมาหลายเสื่อมเสีย อย่างไรก็ดี คำวิจารณ์ต่างๆ ก็มิได้ทำให้ความนิยมในตัวเธอลดน้อยลงแต่อย่างใด ในขณะที่ท่าเต้นแบบควงสว่านถูกวิจารณ์ว่ายั่วยุทางเพศและสร้างความเสื่อมเสียแก่ศีลธรรมอันดีต่อสังคมนั้น ก็ทำให้ชื่อของอินูลถูกนำไปอ้างอิงเหตุผลในการผ่านกฎหมายต่อต้านสื่อลามกในรัฐสภากลางปี 2003 แต่ในปี 2005 หลังการถกเถียงอย่างเข้มข้น กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ผ่านการรองรับในรัฐสภา
การปรากฏของอินูล ดาราติสต้า นำไปสู่การถกเถียงหลายประเด็นบนพื้นที่สาธารณะของอินโดนีเซีย หลังจากสิ้นสุดยุคเผด็จการซูฮาร์โต ที่ปกครองอินโดนีเซียมากว่า 30 ปี อินโดนีเซียอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่ายุคปฏิรูป (Reformasi) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลดเปลื้องพันธนาการอันเผด็จการ และนำสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงเป็นช่วงของการถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน สื่อมวลชน สิทธิสตรี และประชาธิปไตย ดังดุตกลายเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้แก่การถกเถียงในประเด็นต่างๆ นั้น เช่นเดียวกันเพลงประเภทนี้ ซึ่งเคยถูกหยามเหยียดว่าเป็นเพลงหยาบๆ ไร้รสนิยมจากชนชั้นกลางก็ได้รับความนิยมอย่างล้มหลาม ครอบครอบพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมเพลงอินโดนีเซีย ดังนั้น ดังดุตจึงได้รับความนิยมไปเกือบทั่วทุกแห่งหนบนแผ่นดินอินโดนีเซีย พร้อมกับการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งของดังดุต ที่ผสมผสานกับดนตรีประเภทอื่นๆ เช่น ดังดุตดิสโก้ ซึ่งเน้นการเต้นรำกว่าดังดุตแบบดั้งเดิม น่าสังเกตว่าหลังทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา หรือหลังยุคซูฮาร์โต ผู้หญิงหรากฎบนพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น จากแต่เดิมถูกวางบทบาทเป็นเพียงแค่แม่และภรรยาที่ดีของบ้าน การปรากฏตัวบนพื้นที่สาธารณะของผู้หญิง จึงกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขว้าง ไม่ว่าในแง่มุมศีลธรรมที่ถูกโจมตีโดยกลุ่มอิสลามแบบเคร่งคัมภีร์ หรือกลุ่มคนที่เห็นอกเห็นใจและสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกของผู้หญิง
จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ในช่วงปี 2003-2004 ชื่อนักร้องดังดุตสาวและท่าเต้นอันเป็นที่มาของฉายาราชินีควงสว่างของ อินูล ดาราติสต้า นั้น คงเป็นที่รู้จักกันทั่วอินโดนีเซีย แต่ดังดุตไม่ได้จำกัดพื้นที่ทางกายภาพเพียงแค่นั้น เพราะในต่างประเทศดังดุตก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในมาเลเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังดุตเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว แต่ในช่วงปี 2003 เป็นต้นมา เมื่อดังดุตแพร่กระจายในรูปแบบวีซีดี ซึ่งให้ทั้งภาพและเสียง อิทธิพลดังดุตดิสโก้จากอินโดนีเซียดูเหมือนจะกลายเป็นแม่แบบให้เพลงดังดุตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังดุตมลายูปาตานีกลายเป็นเพลงที่ใช้จังหวะดนตรีเร็วๆ และเน้นการเต้นของนักร้อง อันที่จริง ดังดุตท้องถิ่นแบบนี้ก็ได้รับความนิยมในกลันตันอีกด้วย ทุกวันนี้ เราสามารถหาซื้อเพลงดังดุตมลสยูปาตานีได้ในร้านขายเพลงและตลาดนัดบางแห่งในจังหวัดชายแดนใต้ หรือสามารถเปิดหารับชมได้ในเว็บไซต์บนพื้นที่อินเตอร์เน็ต
บัญชา ราชมณี
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Barendregt, B. (2014). Sonic Modernities in the Malay World: A History of Popular Music, Social Distinction and Novel Lifestyles (1930s-2000s): Brill.
Weintraub, A. N. (2010). Dangdut Stories: A Social and Musical History of Indonesia's Most Popular Music. USA: Oxford University Press.
Harnish. D. D. & Rasmussen. D. A. (2011). Divine Inspirations: Music and Islam in Indonesia. New York: Oxford University Press.