อันตารา (Antara) คือสำนักข่าวแห่งชาติของอินโดนีเซีย มีบทบาทอย่างโดดเด่นในช่วงการต่อสู้เพื่อปลดแอกอินโดนีเซียจากเจ้าอาณานิคมและเผยแพร่นโยบายการสร้างชาติยุคหลังได้รับเอกราช อันตาราดำเนินกิจการเฉกเช่นองค์กรเอกชนแต่อยู่ภายใต้กระทรวงรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมแหล่งข่าวเพื่อบริการแก่องค์กรสื่อต่างๆ ภายในประเทศ ตลอดจนเป็นองค์กรเดียวที่ได้รับอนุญาตกระจายข่าวสารจากสำนักข่าวต่างประเทศ
อันตาราก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี 1937 ที่เมืองบัตตาเวีย (Batavia) หรือจาการ์ตาในปัจจุบัน โดยนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช ในช่วงที่อินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมจักรวรรดิดัตช์ สืบเนื่องจากความไม่พอใจต่อสำนักข่าวอาเนตา (Aneta) ของดัตช์ที่ไม่ค่อยรายงานข่าวในท้องถิ่นอาณานิคมเลย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ซูมานัง ซูร์โจวิโนโต (Soemanang Soerjowinoto) เอ.เอ็ม. ซีปาฮูตาร์ (A. M. Sipahoetar) และ อดัม มาลิก (Adam Malik) ซึ่งเขาได้ชักชวน อามีจิน ปาเนอ (Armijn Pane) ร่วมมือก่อตั้งสำนักข่าวอันตาราขึ้น โดยมีซูมานังเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการและซีปาฮูตาร์เป็นบรรณาธิการอาวุโส จุลสารข่าวฉบับแรกที่รายงานการก่อตั้งอันตารานั้น ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในหนังสือพิมพ์ Perasaan Kita และ Kebangoenan
ต่อมาตำแหน่งผู้บริหารอันตาราระดับสูงถูกปรับเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง โดยซูมานัง ซูร์โจวิโนโต้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นบรรณาธิการผู้จัดการ และอดัม มาลิกซึ่งมีอายุเพียง 20 ปี ขึ้นเป็นรองบรรณาธิการบริหาร บทบาทของอดัม มาลิกขณะนั้นได้รับการยกย่องอย่างมากที่ช่วยประคับประคองอันตาราช่วงต้นให้อยู่รอด ด้วยการหาฐานสนับสนุนจากบรรดาชนชั้นกลางชาวพื้นเมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ซูมานังลาออกจากอันตาราหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการเครือข่ายครูเพื่อประชาชน ซีปาฮูตาร์จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการและบรรณาธิการบริหารตามลำดับ แต่เขาก็จำต้องลาออกในปี 1939 เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ อัลวี ซูตัน ออสมาน (Alwi Soetan Osman) ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหารช่วงสั้นๆ ก่อนที่พันดู การ์ตาวีกูนา (Pandoe Kartavigoena) รองหัวหน้ากองบรรณาธิการได้รับการแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้แทน
ในช่วงปี 1942 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดอินโดนีเซียหรือดัตช์ อิสต์ อินดีสในขณะนั้น อันตาราถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ยะชิมะ (Yashima) แต่สามเดือนถัดมาก็ถูกผนวกรวมในฐานะเครือข่ายของสำนักข่าวโดะเมอิ ทสุชิน (Domei Tsushin) ของจักรวรรดิญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ในช่วงแห่งการยึดครองปรากฏว่ากิจการด้านการข่าวของอันตารารุ่งเรืองอย่างมาก มีความฉับไวในการติดต่อสื่อสาร เพราะญี่ปุ่นตั้งสำนักข่าวโดะเมอิไปตามเมืองใหญ่ตลอดทั่วเกาะชวา ดังเช่นเมื่อตอนที่อินโดนีเซียประกาศเอกราชในวันที่ 17 ตุลาคม 1945 ครั้นอดัม มาลิก ได้รับสำเนาคำประกาศเอกราชแล้ว เขาก็ส่งสำเนาดังกล่าวไปยังเพื่อนร่วมงานตามสำนักข่าวประจำเมืองใหญ่ โดยเล็ดลอดสายตากองเซ็นเซอร์ของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นประจำสำนักข่าวโดะเมอิพยายามเพิกถอนคำสั่งการจัดส่ง แต่สุดท้ายคนเดินสารก็สามารถส่งรายงานที่แนบแถลงการณ์คำประกาศเอกราชในนามสำนักข่าวไปยังสถานีวิทยุโฮะโสะ กันริเคียวกุ (Hoso Kanrikyoku) ได้สำเร็จ ท่ามกลางความสับสนงุนงงของบรรดาเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น
หลังจากประกาศเอกราชแล้ว นักหนังสือพิมพ์ระดับนำของอันตาราเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเปิดสำนักข่าวสาขานอกจาการ์ตา ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1964 สะจาห์รูดิน (Sjahroedin) อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวโดะเมอิจึงเปิดสำนักข่าวสาขาที่บริติชสิงคโปร์ (British Singapore) โดยปราศจากทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอินโดนีเซียชุดใหม่ มีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งการผูกขาดข่าวสารเกี่ยวกับอินโดนีเซียจากดัตช์และฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ตอนนั้นยังไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย ในปี 1962 เมื่อดัตช์พยายามเข้ามายึดครองอินโดนีเซียอีกครั้ง รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้ประธานาธิบดีซูการ์โนได้ใช้สื่อมวลชนของตน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติและตรากฎหมายให้อันตาราเป็นสำนักข่าวแห่งชาติ ต่อมาอันตาราก็ถูกโอนมาอยู่ภายใต้การควบคุมของประธานาธิบดี ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้ากองบรรณาธิการและฝ่ายต่างๆ ทำให้เกิดความสับสนเรื่องโครงสร้างว่าใครเป็นเจ้าของและผู้ควบคุม เมื่อซูฮาร์โตรัฐประหารขึ้นเป็นประธานาธิบดี อันตาราถูกนำมาอยู่ภายใต้การควบคุมของประธานาธิบดีโดยตรง โดยออกกฎหมายให้เป็นสำนักข่าวแห่งเดียวที่บริการจัดส่งข่าวสารต่างประเทศให้สำนักข่าวอื่นๆ ในประเทศและประชาสัมพันธ์นโยบายรัฐบาล
ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ท่ามกลางกระแสคลื่นของการเรียกร้องการปฏิรูป อันตาราเริ่มรายงานข่าวอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลและได้รับการปฏิรูปใหม่ในฐานะองค์กรรัฐวิสาหกิจในปี 2007 แม้ว่าหลังจากยุคซูฮาร์โตหมดอำนาจ มีการปลดเจ้าหน้าที่ประจำสำนักข่าวในสมัยซูฮาร์โตออกจำนวนมาก แต่นักวิชาการสื่อมวลชนบางคนเห็นว่า เนื่องจากอันตารามีความสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างยาวนาน จึงเป็นเรื่องยากที่สำนักข่าวนี้จะกลายเป็นองค์กรใหม่ที่รายงานข่าวโดยปราศจากอคติเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง สถานการณ์นี้ชวนให้ระลึกถึงบริบทการเมืองไทยช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 1992 อย่างมาก การผูกขาดข้อมูลข่าวสารโดยรัฐบาลช่วงนั้น นำมาสู่การเรียกร้องสื่อสาธารณะที่มีอิสระไม่ขึ้นต่อหน่วยงานใดของรัฐ เพื่อป้องกันการปิดกั้นและบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร แม้ว่าหลายคนยังไม่เชื่อในความมีอิสระของสื่อ ที่ปราศจากการครอบงำจากฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อประเทศนั้นๆ ปกครองด้วยระบบเผด็จการ แต่กรณีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย บรรยากาศเสรีภาพก็มีส่วนช่วยขจัดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจดังกล่าว
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Shrivastava, K. M. (2007). News Agencies from Pigeon to Internet. India: New Dawn Press.
Bromley, M., & Romano, A. (2005). Journalism and Democracy in Asia. New York: Routledge.
Basu, A. (1994). The Agency Raga and Some Variations. India: Orient Longman Limited.