“แอร์เจเตเอ” หรือ สถานีโทรทัศน์ราชาวาลีจิตราแห่งอินโดนีเซีย (Rajawali Citra Televisi Indonesia: RCTI) เป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งแรกของอินโดนีเซีย โดยดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ที่ผลิตรายการความบันเทิงแบบครบครัน นอกจากนี้ แอร์เจเตเอมีฐานผู้ชมครอบครัวหลายประเทศ ซึ่งทำให้เป็นสถานีที่ได้รับความนิยมสูงสุด
แอร์เจเตเอก่อตั้งโดยกลุ่มทุนเอกชนบีมันตรารา จิตรา โดยออกอากาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ปี 1989 หลังจากที่กิจการโทรทัศน์อยู่ภายใต้การผูกขาดโดยรัฐมาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี ต่อมาในปี 2003 ถึงปัจจุบัน สถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งนี้อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มทุนเปเต มีเดีย นูสันตารา จิตรา โดยมีฐานทำการถ่ายถอดสดอยู่ที่เขตจังหวัดชวาตะวันตกและออกอากาศผ่านทางระบบส่งสัญญาณภาคพื้นดินปกติ เคเบิ้ลทีวีและดาวเทียม
ในระยะแรกแอร์เจเตเอออกอากาศเฉพาะบริเวณกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศในฐานะสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น กระทั่งปีถัดมาสถานีถึงได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลซูฮาร์โตให้สามารถทำการออกอากาศเผยแพร่ทั่วประเทศได้ ในปัจจุบันสถานีโทรทัศน์แอร์เจเตเอมีสถานีถ่ายทอดสดกว่า 180 แห่งทั่วประเทศและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียได้กว่า 180 ล้านคน กล่าวได้ว่า แอร์เจเตเอเป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนที่มีขนาดกิจการใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
รายการช่องแอร์เจเตเอส่วนใหญ่เกี่ยวกับความบันเทิงทั่วไป เช่น ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ (sinetron) ข่าว เรียลลิตี้โชว์ เป็นต้น รายการเซอปูตาร์ อินโดนีเซีย (Seputar Indonesia) เป็นรายการที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมทางบ้านและอยู่คู่กับช่องนี้อย่างยาวนานที่สุด นับตั้งแต่วันที่ 15 พศจิกายน ปี 1989 แต่ในขณะนั้นเรียกว่าเซอปูตาร์ จาการ์ตา (Seputar Jakarta) ซึ่งทำการออกอากาศเพียงบริเวณกรุงจาการ์ตา กระทั่งเมื่อวันทื่ 15 พฤศจิกายน ปี 1990 รายการนี้ก็ออกอากาศครอบคลุมทั่วประเทศภายใต้ชื่อใหม่ว่าเซอปูตาร์ อินโดนีเซีย จากการสำรวจเรตติ้งในปลายปี 2005 พบว่าเซอปูตาร์ อินโดนีเซีย กลายเป็นรายการข่าวหลักประจำช่องแอร์เจเตเอที่มีผู้ชมสูงที่สุด
นอกจากรายการเชิงพาณิชย์แล้ว แอร์เจเตเอยังอากาศเสียงอะซานละหมาดมัฆริบในเวลาประมาณ 18.30 น. อีกด้วย ขณะที่สถานีย่อยในท้องถิ่นก็ออกอากาศรายการข่าวเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้นว่าในเมืองสุราบายามีรายการเซอปูตาร์ สุราบายา (Seputar Surabaya) และเมืองบันดุง (Bandung) ก็จะมีรายการ เซอปูตาร์ บันดุง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แอร์เจเตเอไม่เพียงแต่ออกอากาศภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ออกอากาศไปยังต่างประเทศแบบไม่เก็บค่าใช้จ่ายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในบางเมืองของประเทศติมอร์ตะวันออก หรือประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ส่วนใหญ่สถานีจะส่งสัญญาณรายการประเภทละครโทรทัศน์ ทำให้ละครโทรทัศน์อินโดนีเซียจึงมีฐานผู้ชมมหาศาลข้ามประเทศ เพราะผู้ชมทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์สามารถเข้าใจภาษาอินโดนีเซียได้
ปัจจุบันรายการประจำสถานีแอร์เจเตเอค่อนข้างหลากหลาย แต่มุ่งเน้นผลิตรายการเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นรายการประเภทข่าว รายการสาระความบันเทิงอย่างละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์จากทั้งในและต่างประเทศ หรือการ์ตูนสำหรับเด็กๆ สิ่งที่น่าสนใจคือรายการความบันเทิงอย่างละครโทรทัศน์นั้น มีรายงานว่ามีผู้ชมในมาเลเซียและสิงคโปร์ติดตามกันอย่างเหนียวแน่น ทำให้สถานีโทรทัศน์จึงมีมีเรตติ้งสูงอย่างสม่ำเสมอ ความนิยมดังกล่าวไม่เพียงแต่ดึงดูดเม็ดเงินจากการขายโฆษณาจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรม แฟชั่น ค่านิยมหรือความเชื่อของชาวอินโดนีเซียผ่านทางละครโทรทัศน์อินโดนีเซียอีกด้วย
ทุกวันนี้ สัญญาณโทรทัศน์แอร์เจเตเอจากอินโดนีเซีย สามารถรับชมผ่านเคเบิ้ลทีวีในบางแห่งของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส แต่ส่วนใหญ่จะมีในสถานที่ตามโรงแรมหรือแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ามีการติดตั้งเพื่อรับสัญญาติไว้รองรับนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย รายการที่ได้รับความนิยมก็มักเป็นละครโทรทัศน์ทั่วไปและละครประเภทอิงศาสนาอิสลาม แต่ละครโทรทัศน์อิงศาสนาได้รับความนิยมเฉพาะในกลุ่มคนมุสลิม เนื่องจากในประเทศไทยละครโทรทัศน์ในลักษณะดังกล่าวแทบจะไม่มีเลย จึงทำให้ละครโทรทัศน์อิงศาสนาอิสลามพลอยได้รับความสนใจในหมู่คนมุสลิมไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความนิยมต่อรายการจากแอร์เจเตเอในประเทศไทยนั้นยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะมีสัญญาณไม่ครอบครุมอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงอุปสรรคทางด้านภาษาอินโดนีเซียที่ค่อนข้างมีความแตกต่างอย่างมาก แม้แต่ในหมู่คนมุสลิมที่สามารถพูดภาษามลายูถิ่นได้นั้น พบว่าบางครั้งการฟังภาษาอินโดนีเซียก็เป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะมีทั้งการใช้ภาษาแสลงและคำศัพท์เฉพาะถิ่น
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Thomas, A. O. (2005). Imagi-Nations and Borderless Television: Media, Culture and Politics Across Asia. India: SAGE.
Sen, K., & Hill, D. T. (2007). Media, Culture and Politics in Indonesia. United States: Oxford University Press.