ไรฮัน (Raihan) เป็นคณะนักร้องประสานเสียงเพลงอนาซิดจากมาเลเซียที่โด่งดังอย่างมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นกลุ่มนักดนตรีอิสลามร่วมสมัยกลุ่มแรกของมาเลเซียที่ได้รับความนิยมข้ามประเทศและมียอดจำหน่ายเพลงอย่างล้นหลาม
ไรฮันเป็นชื่อที่มาจากภาษาอาหรับ แปลว่ากลิ่นหอมจากสรวงสวรรค์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996 โดยมีสมาชิกรุ่นบุกเบิกทั้งหมด 5 คน คือ นาซรีย์ โจฮานี (Nazrey Johani) เจะ อัมรอน อีดริส (Che Amran Idris) อาบู บาการ์ มูฮัมหมัด ยาตีม (Abu Bakar Md Yatim) อัมรอน อิบราฮีม (Amran Ibrahim) และ อัซฮารี อะฮ์หมัด (Azhari Ahmad) ซึ่งเป็นหัวหน้าวง ต่อมาในปี 2001 อัซฮารี อะฮ์หมัดก็ได้เสียชีวิตกะทันหันด้วยโรคหัวใจ ทำให้สมาชิกเหลือเพียง 4 คน แต่พวกเขายังคงออกอัลบั้มเพลงอนาซีดอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น นาซรี โจฮานีซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งได้ลาออกไป แล้วถูกแทนที่โดยนอร์ดิน จาฟาร์ (Nordin Jaafar) แต่เขาอยู่กับไรฮันได้ไม่นานนัก โดยวงได้ซูลฟัดลี บิน มุสตาซา (Zulfadli Bin Mustaza) เข้ามาแทนที่จนถึงปัจจุบัน ไรฮันคือคณะประสานเสียงเพลงอนาซีดที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นด้วยรางวัลสาขาต่างๆ และปริมาณยอดจำหน่ายเพลง
อัลบั้มแรกของไรฮัน Puji-Pujian (1996) เป็นอัลบั้มเพลงที่ขายดีที่สุดในมาเลเซียเท่าที่เคยมีมาในแวดวงอุตสาหกรรมเพลงมาเลเซีย ผลงานเพลงของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นแผ่นซีดีและวีซีดี ซึ่งเข้ามาแทนเทป คาสเซ็ตที่เคยครองความนิยมมาก่อนหน้านั้น โดยสามารถทำยอดจำหน่ายในประเทศได้มากกว่า 600, 000 ตลับ และขายได้ทั่วโลกกว่า 3,500,000 ตลับ ยอดจำหน่ายอย่างล้นหลามนี้ ทำให้ไรฮันกลายเป็นกลุ่มศิลปินกลุ่มแรกที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในมาเลเซียในแง่การขายอัลบั้ม หลังจากนั้นไม่นาน ไรฮันก็ได้รับการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างวอร์เนอร์ มิวสิค (Warner Music) และยังคงประสบความสำเร็จในผลงานเพลงอนาซีดอัลบั้มต่อๆ มา กล่าวกันว่าความสำเร็จของไรฮันนั้น ช่วยฟื้นฟูสถานะทางการเงินของวอร์นอร์ อย่างมาก หลังจากที่บริษัทต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ในขณะเดียวกัน เนื่องจากความสำเร็จของไรฮัน ส่งผลให้บริษัทเพลงหลายแห่งในมาเลเซียเริ่มหันมาสนใจสร้างนักร้องเพลงอนาซีดเพิ่มมากขึ้น
สำหรับเพลง Iman Mutiara (1996) ถือได้ว่าเป็นเพลงสัญลักษณ์ของไรฮัน ซึ่งมีเนื้อเพลงส่งเสริมความศรัทธาต่อศาสนาอิสลาม ในมิวสิควีดีโอของเพลงนี้ได้นำเสนอภาพลักษณ์นักร้องในชุดแต่งกายแบบสมัยใหม่ มีความใหม่เอี่ยมทันแฟชั่น แม้บางคนมองว่า ปรากฏการณ์ไรฮันแสดงให้เห็นการทำให้สังคมมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศพหุสังคมกลายเป็นสังคมอิสลามแบบฝังรากลึก แต่หลายคนก็ยกย่องถึงความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับอิสลามแบบสมัยใหม่ ไรฮันบุกเบิกและสร้างเพลงอนาซีดขึ้นใหม่ทั้งหมดด้วยการเพิ่มกลิ่นดนตรีแบบใหม่ๆ เข้าไป ปรับเปลี่ยนรากของเพลงที่มีพื้นฐานจากลัทธิซูฟี (Sufi) และการท่องบทสวดสรรเสริญพระเจ้าอย่างซีกีร์ (Dzikr) พวกเขานำดนตรีแบบกอสเปล (Gospel) คาวาลี (Qawali) เวิร์ลมิวสิค (World Music) และเพลงสมัยนิยมมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ส่งผลให้เพลงอนาซีดของไรฮันไม่ได้มีแค่เนื้อร้องเชิงศาสนาเท่านั้น แต่ทันกระแสดนตรีที่ได้รับความนิยมในช่วงนั้นอีกด้วย
บางคนเชื่อว่าความสำเร็จของไรฮัน ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่นำโดยพรรคอัมโน (UMNO) เนื่องจากพวกเขาปรากฏตัวพร้อมกับพรรครัฐบาลหลายครั้งหลายครา และนำเสนอภาพลักษณ์อิสลามสมัยใหม่ในแบบรัฐบาล จึงทำให้ไรฮันถูกโจมตีจากฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความยอดเยี่ยมและกระแสตอบรับจากแฟนเพลงชาวมาเลเซียอย่างมหาศาล ทั้งจากการไปปรากฏตัวตามสถานีโทรทัศน์และยอดจำหน่ายเพลงที่ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ตลอดจนการได้รับรางวัลกลุ่มนักร้องประสานเสียงยอดเยี่ยมเมื่อปี 1999 และรางวัลการสร้างสรรค์เพลงอิสลามยอดเยี่ยมหลายรางวัล หลายอัลบั้มของพวกเขาเป็นอัลบั้มเพลงอนาซีดที่ขายดีในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ซึ่งอัลบั้มที่ 4 Koleksi Nasyid Terbaik (2000) จำหน่ายได้ 200,000 ตลับ และอัลบั้มที่ 10 Bacalah (2005) ขายได้มากกว่า 70,000 ตลับ นับได้ว่าไรฮันได้สร้างปรากฏการณ์อนาซีดอย่างแท้จริง
ความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับนานาชาติของไรฮัน เปิดทางให้พวกเขาเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแสดงคอนเสิร์ตระดับนานาชาติกับศิลปินนักร้องชื่อดังอย่างยูซุฟ อิสลาม (Yusuf Islam) และออกอัลบั้มร่วมกับกลุ่มศิลปินอิสลามแนวฮิพฮอพสัญชาติอังกฤษวง Mecca2Medina ในชื่ออัลบั้ม Ameen (2005) รวมทั้งมีโอกาสไปเปิดแสดงเพลงอนาซีดในต่างประเทศอีกหลายๆ ที่ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส รัสเซีย และไทย เป็นต้น อัลบั้มที่ 9 Brotherhood คืออัลบั้มเพลงอนาซีดแรกในภาษาอังกฤษที่มุ่งสู่ตลาดเพลงอนาซีดระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับผลตอบรับในระดับที่น่าพอใจ จนกระทั่งในปี 2008 ไรฮันก็ได้ออกอัลบั้มเพลงอนาซีดนานาชาติในภาษาอังกฤษอีกครั้ง นั่นคืออัลบั้ม Praises For The Prophet ซึ่งตอกย้ำความสำเร็จและการยอมรับในตลาดเพลงอนาซีดนานาชาติ
ปูทางให้แก่อุตสาหกรรมความบันเทิงแบบอิสลาม และยังเป็นแรงบันดาลใจต่อคณะนักร้องเพลงอนาซิดรุ่นหลังๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักที่ไรฮันจะได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่มุสลิมในมาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น มีน้อยคนที่จะไม่รู้จักไรฮัน และบางคนถึงขนาดกล่าวว่าความนิยมของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อไรฮัน เทียบได้กับความนิยมของคนไทยที่มีให้แก่นักร้องดังอย่างธงไชย แมคอินไตย์ ทั้งนี้ ไรฮันไม่เพียงได้รับเชิญมาแสดงที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงอยู่บ่อยครั้งเท่านั้น แต่พวกเขาคือต้นแบบของนักร้องประสานเสียงเพลงอนาซีดที่นั่นอีกด้วย โต๊ะครูหลายคนมีความอุตสาหะอย่างน่านับถือในการปลุกปั้นลูกศิษย์ลูกหาในโรงเรียนหรือสถาบันสอนศาสนาให้กลายเป็นนักร้องเพลงอนาซีด ไม่ว่าด้วยการลงทุนเดินไปซื้อแผ่นซีดีหรือวีซีดีเพลงของไรฮันจากมาเลเซีย หรือส่งไปประชันขันแข่งขันบนเวทีประกวดเพลงอนาซีดที่ต่างๆ ทั้งในท้องถิ่นและนานาชาติ
บัญชา ราชมณี
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Weintraub, A. N. (2011). Islam and Popular Culture in Indonesia and Malaysia. New York: Routledge.
Seneviratne, K. (2012). Countering MTV Influence in Indonesia and Malaysia. Singapore: ISEAS
Kahn, J. S. (2001). Modernity and Exclusion. London: SAGE.
Virginia Hooker, N. O. (2003). Malaysia: Islam, Society and Politics. Singapore: Seng Lee Press.