โรมา อิรามา (Rhoma Irama) เป็นนักร้องเพลงดังดุต (Dangdut) ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอินโดนีเซีย เขาได้รับการแซ่ซ้องในฐานะ “ราชาดังดุต” (Raja Dangdut) นอกจากนี้ เขายังโลดเล่นอยู่ในแวดวงการภาพยนตร์หลายเรื่องและการเข้าร่วมการเมืองอีกด้วย
โรมา อิรามา หรือชื่อเดิมคือ โอมา อิรามา (Oma Irama) เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปี 1956 ที่เมืองตาสิกมลายา จังหวัดชวาตะวันตก เมื่อเกิดแม่ตั้งชื่อเขาว่าอิรามา (Irama) ซึ่งหมายถึง จังหวะ เพื่อรำลึกถึงบรรยากาศตอนที่คลอดเขาออกมาหลังเธอกลับจากดูคอนเสิร์ต สมัยเด็กๆ พ่อแม่วาดฝันให้เขาได้รับการศึกษาสูงๆ เพื่อเป็นหมอในอนาคต แม่ของเขาจึงบากบั่นทำงานอย่างหนักเพื่อการศึกษาของลูกชาย อย่างไรก็ตาม โรมา อิรามากลับแสดงให้เห็นถึงความคลั่งไคล้ในการเล่นดนตรีตั้งแต่เยาว์วัย โดยเริ่มฝึกเล่นกีตาร์ด้วยตัวเองตั้งแต่เด็กและออกร้องเพลงหาเงินตามท้องถนน จนกระทั่งเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย แทนที่จะเดินตามความฝันของแม่ไปเรียนหมอ เขาได้ตัดสินใจยุติการเรียนมหาวิทยาลัย แล้วมุ่งเดินบนเส้นทางนักร้องซึ่งเขาค้นพบว่าเหมาะสมกับตนเองมากกว่า
ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน โรมา อิรามาและเพื่อนๆ ร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้น ร้องเพลงของบรรดานักร้องจากตะวันตกที่ได้รับความนิยมในยุคสมัยนั้น เช่น พอล อัลกา (Pual Anka) แอนดี้ วิลเลี่ยม (Andy Williams) เอลวิส เพรสลี่ (Elvis Presley) และเดอะบีทเติ้ล (The Beatles) เป็นต้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ต่อมาในปลายทศวรรษ 1960 โรมา อิรามาเริ่มหันไปร้องเพลงแนวอื่นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของชาวอินโดนีเซียในช่วงนั้น ได้แก่ ออเคสมลายู (Orkes Melayu) และเพลงป็อปอินโดนีเซีย (Pop Indonesia) ในปี 1968 เขาก็ได้เข้าร่วมกับวงดนตรีออเคสมลายู มลายู ปูรนามา (Melayu Purnama) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการริเริ่มบุกเบิกและพัฒนาแนวเพลงแนวใหม่ที่เรียกว่าดังดุต และได้เข้าร่วมกับวงดนตรีอื่นๆ เป็นบางช่วงในเวลานั้น เช่น ซีแนล คอมโบ้ (Zaenal Combo) และ กาแล็กซี่ (Galaksi) ทั้งนี้ เขาได้ออกอัลบั้มเพลงป็อปอินโดนีเซีย Ingkar Janji (1969) กับวงออเคส มลายู จันทราเลกา (Orkes Melayu Chandraleka) อีกด้วย ซึ่งเป็นอัลบั้มก่อนการพัฒนาแนวเพลงแบบใหม่อย่างดังดุต
ในปี 1971 โรมา อิรามาก็ได้ตั้งวงดนตรีออเคสมลายูของเขาขึ้นในชื่อ โซเนต้า (Soneta) โดยได้เอลวี่ สุกาเอสิห์ (Elvy Sukaesih) มาเป็นนักร้องประจำวงที่ทั้งร้องเดี่ยวและร้องคู่ด้วยกัน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่โรมา อิรามาค่อยๆ ทดลองและพัฒนาแนวเพลงแบบใหม่ด้วยการผสมผสานแนวเพลงต่างๆ เข้าด้วยกัน จากพื้นฐานทางดนตรีแบบออเคสมลายู เพลงร็อคตะวันตก เพลงอาหรับและเพลงภาพยนตร์อินเดียจนสุกงอมกลายเป็นเพลงแบบใหม่ อัลบั้มดังดุตชุดแรกในนามโซเนต้าคือ Soneta Volume. 1 Bedagang (1973) โดยมีเพลงดังอย่าง Bedagang (ตื่นตลอดคืน) และในอัลบั้มต่อๆ มาเพลงก็เริ่มมีน้ำเสียงเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมือง แม้นักวิจารณ์หลายคนมองว่าดูเบาๆ เมื่อเทียบกับเพลงร็อคในขณะนั้น แต่เพลงของเขาก็ถูกอกถูกใจกับรสนิยมคนชั้นล่างซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย เช่น Rupiah (1975) ที่นำไปสู่การห้ามเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์และการขายเทปคาสเซ็ตก็ถูกควบคุมอย่างเข็มงวด และ Hak Azasi (1978) ซึ่งมีเนื้อหาทางการเมืองมากขึ้นโดยเตือนรัฐบาลยุคนั้นให้เคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชนและระมักระวังในการใช้อำนาจ อย่างไรก็ตาม ดังดุตซึ่งมีพื้นฐานจากชนชั้นล่างใช้ภาษาอินโดนีเซียแบบง่ายๆ โดยหยิบยกเรื่องราวในชีวิตประจำวันและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนอินโดนีเซียชั้นล่าง ทำให้ประสบความสำเร็จเข้าถึงรสนิยมของผู้ฟังอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคนสลัมและชาวชนบท
กล่าวได้ว่า ตลอดช่วงทศวรรษ 1970 เป็นช่วงที่โรมา อิรามาในนามวงโซเนต้าโดดเด่นอย่างมาก ดังดุตกลายเป็นรูปแบบเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมั่นคง และกรุยทางให้เขากระโจนเข้าสู่วงการภาพยนตร์อีกด้วย โดยเฉพาะช่วงปลายทศวรรษ 1970 และตลอดทศวรรษ 1980 เขามีผลงานการแสดงภาพยนตร์ซึ่งล้วนแต่หยิบเค้าโครงเรื่องมาจากเพลงดังของเขา เช่น Oma Irama Penasaran (1976) Begadang (1978) Nada-nada Rindu (1987) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความโด่งดังในฐานะนักร้องดังดุตยังคงดำเนินต่อไป เขาใช้ดังดุตเป็นเสียงในการสอนอิสลามที่ผสมผสานกับการวิพากษ์สังคมอย่างโกรธเกรี้ยว เมื่อกลับมาจากการทำพิธีฮัจญ์ ด้วยบุคลิกที่สงบเสงี่ยมและความสามารถในการสร้างความบันเทิงไปด้วยกัน ทำให้เขาเป็นที่อิจฉาจากผู้นำมัสยิดในบางแห่ง เนื่องจากเพลงที่มีน้ำเสียงสอนอิสลามนั้นดึงดูดผู้ฟังมหาศาลพร้อมๆ กับเผยแพร่ศาสนา แม้จะถูกวิจารณ์ว่าใช้ศาสนาจนร่ำรวย แต่เขาก็โต้แย้งว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนในการสั่งสอนศาสนาและเขาเพียงทำหน้าที่ในทางที่ถนัดที่สุด แน่นอนว่าความนิยมต่อโรมา อิรามายิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ กระทั่งเขามีโอกาสเข้าสู่แวดวงการเมือง ซึ่งมักไปปรากฏตัวในหลายเวทีหาเสียงเพื่อดึงดูดฝูงชนให้ไปเลือกตั้ง
สำหรับโรมา อิรามาแล้ว อิทธิพลในฐานะราชาดังดุตมิได้จำกัดแต่ในอินโดนีเซียเท่านั้น แต่เดินทางไปไกลข้ามประเทศอีกด้วย เช่น มาเลเซีย ไทย เป็นต้น ทุกวันนี้เราสามารถพบเห็นเทปคาสเซ็ต ซีดีและวีซีดีดังดุตของเขาตามท้องตลาดบางแห่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เพลงดังดุตได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คณะดิเกร์ฮูลูบางคณะถึงขนาดแปลงเพลงและทำนองเพลงดังๆ ของโรมา อิรามามาประยุกต์กับการแสดงดิเกร์ฮูลู ทั้งนี้ คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่าผลงานเพลงของโรมา อิรามา คือมรดกทางด้านดนตรีที่ไม่ต่างจากคือครูคนหนึ่งของพวกเขา
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Weintraub, A. N. (2010). Dangdut Stories: A Social and Musical History of Indonesia's Most Popular Music. USA: Oxford University Press.
Lockard, C. A. (2001). Dance of Life: Popular Music and Politics in Southeast Asia. USA: University of Hawai'i press.
Frederick, W. H. (1982). Rhoma Irama and the Dangdut Style: Aspects of Contemporary Indonesian Popular Culture. Indonesia: Southeast Asia Program Publications at Cornell University.