พี. รามลี (P. Ramlee) ได้ชื่อว่าเป็นดาวจรัสฟ้าที่สุดในวงการภาพยนตร์มลายู พี. รามลีเป็นผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยความสามารถและอัจฉริยภาพในการสร้างความบันเทิงอย่างแท้จริง บทบาทของเขาในวงการภาพยนตร์มลายูครอบคลุมตั้งแต่การเป็นดาราในดวงใจผู้ชม ผู้กำกับภาพยนตร์ เขียนบท อำนวยการสร้าง ตัดต่อ แต่ง ร้อง และอำนวยเพลง
พี. รามลีเกิดเดือนมีนาคม 1929 ชื่อเดิมคือ ตุนกูซาการีอะห์ บิน ตุนกู นยะก์ ปูเตะห์ หนทางสู่วงการภาพยนตร์เปิดกว้างเนื่องด้วยความสามารถเอกอุทางด้านดนตรี ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 1948 ขณะที่เขากำลังเล่นดนตรีอยู่ที่ผับแห่งหนึ่งในปีนัง หนึ่งในกลุ่มผู้ฟังคือ บี. เอส. ราชหรรษ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอินเดียที่ได้เครดิตในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์มลายูเรื่องแรกขึ้นที่สิงคโปร์ ราชหรรษ์มักจะเดินทางเสาะหาบุคลากรมาเสริมเติมให้กับสตูดิโอมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ ด้วยความประทับใจในความสามารถด้านดนตรี ราชหรรษ์ชักชวนรามลีให้ไปร่วมงานภาพยนตร์ เมื่อเดินทางไปสู่สิงคโปร์ รามลีก็ได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์ในทันที โดยเริ่มต้นด้วยบทตัวร้ายพร้อมร้องเพลงแทนตัวเอกของเรื่องในภาพยนตร์เรื่อง Chinta (บี. เอส. ราชหรรษ์, 1948) กระทั่งต่อมาในปี 1950 เขาก็ได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง Bakti ซึ่งกำกับโดยลักษมานัน กฤษณัน และเริ่มไต่ระดับความมีชื่อเสียงอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้น
สำหรับบทบาทในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ พี. รามลีสามารถต่อรองให้ทางชอว์บราเดอร์อนุญาตให้เขาได้ลองกำกับภาพยนตร์ได้ในที่สุด ภาพยนตร์เรื่องแรกภายใต้การกำกับของเขา คือ Penarek Becha (1955) เป็นทั้งความสำเร็จอันสำคัญของเขาและวงการภาพยนตร์มลายูในภาพรวม Penarek Becha สร้างมิติใหม่หลายประการให้กับวงการ นอกจากความสำเร็จยิ่งใหญ่ด้านรายได้และรางวัลภาพยนตร์มลายูยอดเยี่ยมในปี 1956 แล้ว Penarek Becha ได้ถางทางให้ชาวมลายูขึ้นมามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในวงการภาพยนตร์ และย่อมรวมถึงการเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของช่วงเวลาเริ่มต้นแห่งยุคทองของภาพยนตร์มลายู
พี. รามลีกำกับภาพยนตร์ให้กับมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์จำนวนทั้งสิ้น 14 เรื่อง ก่อนที่จะละจากสิงคโปร์เพื่อไปร่วมสังกัดสตูดิโอเมอร์เดกาที่กัวลาลัมเปอร์ในปี 1964 จากภาพยนตร์ที่กำกับรวมทั้งสิ้น 66 เรื่อง หลายต่อหลายเรื่องคงสถานะเป็นภาพยนตร์มลายูคลาสสิก ผลงานที่เป็นที่จดจำและได้รับการยกย่องมีทั้งภาพยนตร์ดรามากินใจ อย่าง Semerah Padi (1956) Antara Dua Darjat (1960) Ibu Mertuaku (1962) Sesudah Suboh (1967) Gerimis (1968) Dr. Rushdi (1970) หรือกลุ่มภาพยนตร์ตลก อย่างเช่น Nujum Pa’ Blalang (1959) Labu Dan Labi (1962) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ในชุด Bujang Lapok อันประกอบด้วย Bujang Lapok (1957) Pendekar Bujang Lapok (1959) Ali Baba Bujang Lapok (1961) Seniman Bujang Lapok (1961) ภาพยนตร์เหล่านี้จับใจผู้ชมชาวมลายูด้วยทั้งสามารถสร้างความสะเทือนใจต่อชะตากรรมของมนุษย์ ภาพยนตร์ตลกมักประกอบไปด้วยตัวละครใสซื่อและสร้างความหรรษาให้กับชีวิต แต่แทบทุกเรื่องเช่นกันที่ล้วนทำหน้าที่ในการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม รวมถึงสะท้อนโลกที่ชาวมลายูกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างจริงจังและแหลมคม
พี. รามลีชื่นชมผลงานของผู้กำกับชั้นนำระดับโลกหลายคนและยอมรับว่าแรงบันดาลใจนั้นมีทั้งจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด อากิระ คุโรซาวา สัตยาจิต เรย์ รวมถึงภาพยนตร์ในตระกูลนีโอเรียลลิสต์ ผลงานการกำกับของเขาได้รับรางวัลการประกวดภาพยนตร์ระดับเอเชียหลายรางวัล จำนวนหนึ่งนั้นรวมถึงรางวัลภาพยนตร์ตลกยอดเยี่ยมสำหรับ Bujang Lapok (1957) จากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียครั้งที่ 6 จัดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ รางวัลความสามารถพิเศษสำหรับ Ibu Mertuaku (1962) จากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียครั้งที่ 10 จัดที่กรุงโตเกียว รางวัลภาพยนตร์ตลกยอดเยี่ยมสำหรับ Madu Tiga (1964) จากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียครั้งที่ 11 จัดที่กรุงไทเป เป็นต้น
ช่วงท้ายชีวิตของ พี. รามลีเป็นเช่นเดียวกับดาราและบุคลากรจากวงการภาพยนตร์มลายูอีกหลายคน ที่การเสื่อมความนิยมในภาพยนตร์กลุ่มนี้ได้ทำให้พวกเขายากไร้และถูกหลงลืม รามลียังคงพยายามที่จะสร้างสรรค์ภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ท้องถิ่นกำลังก้าวเข้าสู่ยุคตกต่ำนับจากช่วงปลายทศวรรษ 1960 เขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในวันที่ 29 พฤษภาคม 1973 หลังจากเขาเสียชีวิตไปร่วมทศวรรษจึงได้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อรื้อฟื้นให้ค่าภาพยนตร์มลายูในช่วงสมัยของ พี. รามลี ภาพยนตร์ของเขาถูกนำมาฉายซ้ำอย่างสม่ำเสมอในโทรทัศน์ทั้งที่สิงคโปร์และมาเลเซีย บทเพลงจำนวนมากที่เขาเคยแต่งหวนกลับมาถูกผลิตซ้ำ และตัวเขาเองได้รับการยกย่องในฐานะดาราและผู้กำกับภาพยนตร์ผู้ยิ่งใหญ่เป็นที่จดจำที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มาเลเซีย
ณ ช่วงเวลาทองซึ่งภาพยนตร์มลายูได้ขยายความนิยมมาถึงหลายชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ชื่อของ พี. รามลี เป็นที่รู้จักกันดี ผู้เฒ่าผู้แก่จำนวนไม่น้อยยังคงสามารถจดจำความหลังถึงวันที่ภาพยนตร์ของรามลีถูกนำเข้าหรือนำมาเร่ฉายในโรงภาพยนตร์ รวมถึงหลายคนยังคงรำลึกถึงวันที่รามลีเดินทางมาโชว์ตัวที่โรงภาพยนตร์ในจังหวัดปัตตานี สอดคล้องกับหลักฐานจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบันทึกถึงการที่รามลีและเพื่อนพ้องดาราชื่อดังหลายคนของมลายูฟิล์มโปรดักชั่นส์ได้เดินทางมาพบผู้ชมที่ปัตตานี นราธิวาส และรามัน สำหรับคนรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ภาพยนตร์ของรามลียังสามารถหาชมได้จากแผ่นดีวีดี วีซีดี หรือกระทั่งจากสัญญาณโทรทัศน์ที่ส่งผ่านข้ามแดนมาถึง
จิรวัฒน์ แสงทอง
มีนาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Barnard, Rohayati Paseng and Timothy P. Barnard. “The Ambivalence of P. Ramlee: Penarek Beca and Bujang Lapok in Perspective.” Asian Cinema 13, 2 (Fall/Winter 2002): 9-23.
Barnard, Timothy P. “Film, Literature, and Context in Southeast Asia: P. Ramlee, Malay Cinema, and History.” In Southeast Asian Studies: Debates and New Directions, edited by Cynthia Chou and Vincent Houben, 162-79. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2006.
Harding, James and Ahmad Sarji. P. Ramlee: The Bright Star. Subang Jaya, Selangor: Pelanduk, 2002.
Ramli Ismail. Kenangan Abadi P. Ramlee. Kuala Lumpur: Adhicipta, 1998.