ปีเตอร์แพน (Peterpan) เป็นวงดนตรีขวัญใจวัยรุ่นแนวป็อปร็อคชื่อดังของอินโดนีเซีย พวกเขาไต่เต้าจากการเป็นนักดนตรีข้างถนนและเล่นดนตรีตามผับ จนกลายเป็นวงดนตรีรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากสุดวงหนึ่งในแวดวงเพลงอินโดนีเซีย รวมทั้งสามารถครองใจวัยรุ่นทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ปีเตอร์แพนก่อตั้งโดยกลุ่มเพื่อนนักเรียนในเมืองบันดุง ที่รวมตัวกันเล่นดนตรีเมื่อปี 2000 ชื่อวงตอนแรกคือ โตปี (Topi) แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นปีเตอร์แพน สมาชิกในวงช่วงก่อตั้งมีทั้งหมด 6 คน ได้แก่ อันดีคา (Andika) อินดรา (Indra) อาเรียล (Ariel) อูกี (Uki) ลุกมาน (Loekman) และ เรซา (Reza) ช่วงแรกๆ พวกเขาเล่นดนตรีตามท้องถนนและผับในเมืองบันดุง โดยหวังว่าวันหนึ่งจะสามารถเข้าไปเป็นวงดนตรีประจำผับใดสักแห่ง เพลงส่วนใหญ่ที่ปีเตอร์แพนนำมาเล่นคือเพลงแนวป็อปร็อคและออเทอเนทีฟร็อค (Alternative rock) ของนักร้องและวงดนตรีดังๆ จากต่างประเทศ คืนหนึ่งขณะปีเตอร์แพนกำลังเล่นดนตรีอยู่ในผับตามปกติ พวกเขาก็ไปเตะตาเข้ากับโนอี้ (Noey) โปรดิวเซอร์มากประสบการณ์ที่กำลังวางแผนทำอัลบั้มรวมเพลง โนอี้จึงได้ชักชวนสมาชิกวงปีเตอร์แพนมาร่วมทำอัลบั้ม โดยในที่สุด เพลง Mimpi Yang Sempurna ที่พวกเขาส่งมาก็ถูกรวมอยู่ในอัลบั้ม Kisah 2002 Malam (2002) ซึ่งปรากฏว่าเพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตที่ถูกเปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามสถานีวิทยุตลอดทั้งปีและอัลบั้มดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จในแง่การขาย
หลังจากสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักในอัลบั้ม Kisah 2002 Malam วงปีเตอร์แพนก็ได้รับการเซ็นสัญญาเข้ามาเป็นวงดนตรีอาชีพกับมูสิกา สตูดิโอ (Musica Studio) ซึ่งเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย ภายใต้การดูแลของโนอี้ โปรดิวเซอร์คนเดิมที่ผลักดันพวกเขาตั้งแต่ต้น ทำให้ปีเตอร์แพนได้รับโอกาสแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ในการผลิตงานเพลงคุณภาพออกสู่สายตาแฟนเพลงเป็นอัลบั้มแรก นั่นคืออัลบั้ม Taman Langit (2003) หลังจากอัลบั้มแรกได้รับกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยม ปีเตอร์แพนก็ออกอัลบั้มที่ 2 ในปีถัดมา คือ Bintang Di Surga (2004) โดยสามารถทำยอดจำหน่ายเพลงภายในสองสัปดาห์กว่า 350,000 ตลับ และตลอดจนสิ้นปี 2005 อัลบั้มดังกล่าวสามารถทำยอดจำหน่ายเพลงได้ถึง 2.7 ล้าน ตลับ กล่าวได้ว่าผลงานเพลงของปีเตอร์แพนทำรายได้อย่างมหาศาล และกลายเป็นวงดนตรีที่ติดตลาดและสามารถครองความนิยมในหมู่วัยรุ่นอินโดนีเซียอย่างกว้างขวาง รวมไปในประเทศมาเลเซียอีกด้วย
ในปี 2005 ปีเตอร์แพนออกอัลบั้มที่ 3 Menunggu Pagi โดยได้นักร้องแนวป็อปอินโดนีเซียมากประสบการณ์อย่างคริสเย (Chrisye) มาช่วยทำเพลงๆ หนึ่งในอัลบั้มนี้ คือ Menunggumu ต่อมาเพลงดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง Liontin อย่างไรก็ตาม ในปี 2006 อันดีคาและอินดราซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งสองคนได้ออกจากปีเตอร์แพนไปตั้งวงใหม่ของตัวเอง ทำให้เหลือสมาชิกเพียง 4 คน แต่สมาชิกในวงปีเตอร์แพนที่เหลืออยู่ยังคงออกอัลบั้มในนามปีเตอร์แพนต่อมาอีก 2 อัลบั้ม คือ Hari Yang Cerah (2007) และ Sebuah Nama Sebuah Cinta (2008) ซึ่งเป็นอัลบั้มสุดท้ายในนามวงปีเตอร์แพน และได้มือคีย์บอร์ดใหม่คนใหม่เข้ามาคือ เดวิด คูร์เนีย อัลเบิร์ต (David Kurnia Albert) อย่างไรก็ดี อัลบั้มสุดท้ายในนามปีเตอร์แพนเป็นการเพลงฮิตในอดีตและเพลงใหม่มารวมกัน แม้ว่าเพลงของพวกเขายังคงทำรายได้เช่นเดิม แต่ยอดจำหน่ายแผ่นวีซีดีและซีดีอาจไม่เปรี้ยงปร้างมากเท่าอัลบั้มชุดก่อนหน้า ในปี 2012 ปีเตอร์แพนก็ปิดฉากวงดนตรีขวัญใจวัยรุ่นลงพร้อมกับชื่อใหม่นามว่า โนอาห์ (Noah)
ระหว่างปี 2003-2004 คือช่วงเวลาที่ปีเตอร์แพนประสบความสำเร็จอย่างมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2004 นักวิจารณ์หลายคนกล่าวได้ว่าเป็นช่วงพีคสุดของพวกเขา เพราะตารางการแสดงของพวกเขามีคิวการแสดงแน่นขนัด ในปีนั้นปีเตอร์แพนได้จัดแสดงคอนเสิร์ตใน 6 เมืองใหญ่ทั่วอินโดนีเซียภายในหนึ่งวันขึ้น ซึ่งทุบสถิติวงดนตรีอื่นๆ ทุกวงในอินโดนีเซียและมีแฟนเพลงเข้าฟังอย่างล้นหลาม นอกจากนี้ ผลงานเพลงอันโด่งดังติดตลาด ณ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปีเตอร์แพน ส่งผลให้พวกเขาได้รับรางวัลอัลบั้มและศิลปินอินโดนีเซียยอดเยี่ยมจากเวที MTV Award Asia กับ MTTV Award Indonesia ในปี 2005 และ 2006 ตามลำดับ แม้ว่าในปัจจุบันปีเตอร์แพนเปลี่ยนเป็นโนอาห์แล้ว แต่พวกเขาก็ยังได้รับการสนับสนุนจากแฟนเพลงเช่นเคย พร้อมกับรูปแบบดนตรีที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนได้รับโอกาสออกไปแสดงคอนเสิร์ตในระดับนานาชาติบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในมาเลเซีย ไต้หวัน อเมริกาหรืออังกฤษ
ปีเตอร์แพนหรือโนอาห์เป็นวงดนตรีป็อปร็อคที่ครองความนิยมในหมู่วัยรุ่น เช่นเดียวกับวงดนตรีในไทยที่มีแนวเพลงคล้ายคลึงกัน เช่น บอดี้สแลม (Bodyslam) ลาบานูน (Labanoon) เป็นต้น วงดนตรีเหล่านี้ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ช่วงหลังทศวรรษ 2000 มาจนถึงปัจจุบัน แม้เพลงส่วนใหญ่มักนำเสนอเกี่ยวกับความรักในแบบวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว มากกว่าจะถกเถียงในเรื่องการเมืองหรือก่อประกายการถกเถียงทางสังคม แต่ก็ได้รับความชื่นชอบจากคนหนุ่มสาวอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ผลงานเพลงของปีเตอร์แพนสร้างมูลค่ามหาศาล หากเทียบกับไทยในแง่ของจำนวนผู้บริโภคหรือการมีตลาดเพลงที่ใหญ่มากหลายเท่า แต่ปีเตอร์แพนก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยมากนัก เว้นแต่บรรดานักเรียนไทยที่เดินทางไปเรียนอินโดนีเซีย เพราะปีเตอร์แพนนั้นเป็นวงดนตรีอินโดนีเซียระดับต้นๆ ที่แนะนำให้พวกเรารู้จักแง่มุมความบันเทิงของประเทศนี้มากขึ้น
บัญชา ราชมณี
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Seneviratne, K. (2012). Countering MTV Influence in Indonesia and Malaysia. Singapore: ISEAS
Clark, M., & Pietsch, J. (2014). Indonesia-Malaysia Relations: Cultural Heritage, Politics and Labour Migration. New York: Routledge.
Heryanto, A. (2008). Popular Culture in Indonesia: Fluid Identities in Post-Authoritarian Politics. New York: Routledge.
Barendregt, B. (2014). Sonic Modernities in the Malay World: A History of Popular Music, Social Distinction and Novel Lifestyles (1930s-2000s): Brill.