โนรานิซา อีดริส (Noraniza Idris) เป็นหนึ่งในนักร้องมาเลเซียเพียงไม่กี่คนที่อยู่ในวงการเพลงนานถึง 4 ทศวรรษและมีผลงานเพลงมากกว่า 14 อัลบั้ม เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีเพลงชาติพันธุ์ร่วมสมัย (Ratu Pop Etnik) และเพลงของเธอถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูเพลงพื้นบ้านของมาเลเซียอีกด้วย
โนรานิซา อีดริส หรือก๊ะอานี มีชื่อเต็มว่า นอร์ อานิซา บินตี ฮาญี อีดริส (Nor Aniza Binte Haji Idris) เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ปี 1968 ที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เธอมีพ่อเป็นนักร้องแนวบอเรีย (Boria) และนักท่องอัล-กุรอ่าน (Qi)ซึ่งเป็นคนที่คอยพาเธอไปประกวดร้องเพลงตามเวทีต่างๆนอกจากนี้ ชีวิตการร้องเพลงช่วงแรกๆ ของโนรานิซา อีดริส คือรับจ้างร้องเพลงตามงานแต่งงาน
หลังจากที่ได้เข้าร่วมแข่งขันประกวดร้องเพลงในรายการ Bintang RTM ครั้งที่สอง ในปี 1985 ซึ่งเป็นการแข่งขันค้นหานักร้องที่มีพรสวรรค์ โนรานิซา อีดริสก็ได้รับการบันทึกเสียงออกอัลบั้มเป็นครั้งแรกในวัย 17 ปี จากการชักชวนของฮามีดี้ ราชิด (Hamidi Rashid) ผู้จัดการทั่วไปแห่ง Life Record ที่ประทับใจน้ำเสียงอันหวานซึ้งของเธอ อัลบัม Melayu Deli (1985) คืออัลบั้มแรกของเธอโดยออกอัลบั้มร่วมกับบรรดานักร้องหน้าเก่าสี่คน ได้แก่ แอล. รามลี (L. Ramli) เอ. ดายัง (A. Dayang) เอส. จีเบ็ง (S. Jibeng) และ ชาร์ม (Sharm) แต่เพลงในอัลบั้มนี้ทั้งหมดเป็นการนำเพลงเก่า ที่เคยได้รับความนิยมในอินโดนีเซียเมื่อนานมาแล้วมาบันทึกเสียงใหม่ในแนวเพลงมาเลเซียร่วมสมัย
สำหรับอัลบั้มต่อมาของโนรานิซา อีดริสนั้น ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการนำเพลงฮิตเก่าๆ ที่เคยได้รับความนิยมในอดีต ทั้งจากอินโดนีเซียและมาเลเซียมาขับร้องและบันทึกเสียงใหม่ โดยปรับรูปแบบดนตรีให้เป็นเพลงมาเลเซียร่วมสมัย หรือมีกลิ่นอายแบบเพลงมาเลเซียร่วมสมัยมากขึ้น เช่น อัลบั้ม Nostalgia Malindo (1987) และ Mengemis Rindu (1987) ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ส่งผลให้ชื่อของโนรานิสา อีดริส ทะยานขึ้นทำเนียบนักร้องมาเลเซียที่ได้รับความนิยมอย่างล้มหลาม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ช่วงที่เธอเข้าวงการเพลงสมัยแรกๆ นั้น โนรานิสา อีดริสจึงถูกขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งการร้องเพลงคนอื่น (Ratu Ciplak) เพราะว่าไม่มีโอกาสได้บันทึกเสียงเพลงของตัวเองเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 1992 โนรานิสา อีดริสย้ายเข้ามาอยู่ในสังกัดโซนี่ มิวสิค (Sony Music) เธอก็ได้ออกอัลบั้มในแนวเพลงพื้นบ้านมาเลเซียร่วมสมัย โดยนำเอาดนตรีชาติพันธุ์ต่างๆ ในมาเลเซียมาผสมผสานกับรูปแบบดนตรีร่วมสมัย ดังเช่นในอัลบั้ม Noraniza Idris (1992) ซึ่งเป็นการนำทำนองดนตรีและภาษาท้องถิ่นจากเพลงพื้นบ้านของมาเลเซีย เช่น ซาปิน (Zapin) และกาซาล (Ghazal) เป็นต้น มาผสมผสานกับจังหวะดนตรีเพลงร่วมสมัย อัลบั้มนี้จึงกลายเป็นอัลบั้มแรกที่แหวกแนวไปจากเพลงแนวป็อปมาเลเซียหรือเพลงมาเลเซียร่วมสมัยที่ปรากฏในอัลบั้มชุดก่อนๆ และก็ได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลงอย่างน่าพอใจ ผลกตอบรับดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งจากการทดลองปรับเปลี่ยนแนวเพลง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการหันมาบันทึกเสียงเพลงพื้นบ้านมาเลเซียร่วมสมัยในอัลบั้มต่อๆ มาอีกด้วย
ในปี 1997 หลังจากว่างเว้นการออกอัลบั้มมานานกว่า 5 ปี โนรานิสา อีดริสก็ได้ออกอัลบั้มเพลงพื้นบ้านมาเลเซียร่วมสมัยในชื่ออัลบั้ม Ala Dondang (1997) โดยอยู่ภายใต้การดูแลของนักแต่งเพลงและนักดนตรีชื่อดังของมาเลเซียนามว่า ซูไฮมี โมฮัดหมัด ซาอิน (Suhaimi Mohd Zain) หรือที่รู้จักดีในนาม ครูงะ(Pak Nga) และก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทุกอัลบั้มหลังจากนั้นของเธอจึงยังคงเป็นเพลงในแนวดังกล่าวนี้ เช่น Masyhur (1998) Bekaba (1999) และ Seri Balas (1999) อัลบั้มคู่กับซิตี นูรฮาลิซา (Siti Nurhaliza) เป็นต้น การแหวกแนวไปจากอัลบั้มก่อนหน้านี้ทำให้เธอได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ริเริ่มนำจังหวะและทำนองดนตรีชาติพันธุ์และเพลงพื้นบ้านมาใช้ เนื้อเพลงของเธอก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูดนตรีแบบจารีตของมาเลเซียอีกด้วยอันเป็นที่มาของฉายา ราชินีเพลงชาติพันธุ์ร่วมสมัย
โนรานิสา อินดริส ร้องเพลงในแนวที่เรียกว่า อิรามา มาเลเซีย (Irama Malaysia) อันเป็นรูปแบบเพลงที่ผสมผสานระหว่างเพลงท้องถิ่นกับเพลงสมัยนิยมตะวันตก นอกจากนี้ เธอยังสามารถร้องเพลงดังดุต เพลงชาติพันธุ์ และเพลงป็อปทั่วไป โดยเฉพาะเพลงของชาติพันธุ์ต่างๆ ในมาเลเซีย ที่เธอบันทึกเสียงไว้ค่อนข้างมาก จนได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งเพลงป็อปชาติพันธุ์ คือเพลงที่ใช้ภาษาท้องถิ่น
สำหรับในเมืองไทย ชื่อของโนรานิสา อีดริสอาจไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นเท่าไหร่นัก แม้ว่าเมื่อราว 20 ปี ก่อน เพลง Anak Tani (1987) ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม Nostalgia Malindo(1987) เคยโด่งดังอย่างมากและถูกนำมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยอีกด้วย แต่กระนั้นก็ไม่เป็นที่รู้จักแก่ผู้ฟังชาวไทยรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม คงไม่มีเพลงใดของเธอโด่งดังและได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้ฟังชาวไทยเท่าเพลง Dikir Puter i(1998) ทั้งที่เพลงนี้ออกสู่สาธารณชนมานานหลายปีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงประมาณ 5-6 ปี ที่แล้ว หรือระหว่างปี 2010-2011 พบว่าเพลง Dikir Puteri เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้ยินแทบจะทุกที่ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นบนรถสองแถว ผับ มหาวิทยาลัย โรงเรียน การแสดงดิเกร์ฮูลู หรือการแสดงดนตรีในต่างจังหวัด ในขณะเดียวกัน มีการเอาทำนองดนตรีของเพลงนี้มาร้องในภาษาไทยอีกหลายเพลงอีกด้วยกล่าวได้ว่าเพลงนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ความบันเทิงในไทยข้ามยุคข้ามสมัยอย่างน่าประหลาดใจ
บัญชา ราชมณี
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Lockard, C. A. (2001). Dance of Life: Popular Music and Politics in Southeast Asia. USA: University of Hawai'i press.
Barendregt, B. (2014). Sonic Modernities in the Malay World: A History of Popular Music, Social Distinction and Novel Lifestyles (1930s-2000s). Laiden: Brill.
Seneviratne, K. (2012). Countering MTV Influence in Indonesia and Malaysia. Singapore: ISEAS