ดังดุต (Dangdut) คือดนตรีสมัยนิยมประเภทหนึ่งของอินโดนีเซีย ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่ประชาชนอินโดนีเซีย สายรากทางด้านดนตรีของดังดุตนั้น กำเนิดมาจากรูปแบบความบันเทิงสมัยใหม่อย่างแท้จริงท่ามกลางบรรยากาศวัฒนธรรมความบันเทิงอินโดนีเซียตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ดังดุตกลายเป็นแนวเพลงหลักที่สร้างกำไรให้แก่วงการเพลงอินโดนีเซียอย่างมหาศาล
บริบททางการเมืองและวัฒนธรรมช่วงทศวรรษ 1960 เอื้อให้ดังดุตเริ่มพัฒนาจากการผสมผสานระหว่างอิทธิพลทางด้านดนตรีอย่างหลากหลาย จากการแตกแขนงออกมจากวงดนตรีออเคสมลายู (Orkes Melayu) ผสมกับอิทธิพลของเพลงภาพยนตร์อินเดียอย่างเข้มข้น โดยใช้เครื่องดนตรีอย่างกลองอินเดีย Tabla หรือ Gendang และขลุ่ย Suling อันเป็นลักษณะเด่นทางดนตรีของดังดุต รวมไปถึงเพลงสมัยนิยมตะวันตก ที่ถูกนำเข้ามา โดยเฉพาะวงโซเนต้า (Soneta) ของโรมา อิรามา (Rhoma Irama) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาดังดุตนั้น ได้เพิ่มเครื่องดนตรีไฟฟ้าแบบตะวันตกเข้ามาทีละเล็กละน้อย เช่น กีตาร์ไฟฟ้า กลองชุด และเครื่องผลิตเสียงสังเคราะห์ (synthesizer) เป็นต้น พัฒนาการดังกล่าวนี้ยังแสดงให้เห็นอิทธิพลเพลงร็อคตะวันตกที่ได้รับความนิยมอย่างมากช่วงทศวรรษ 1970 ต่อการก่อรูปก่อร่างของดังดุตในช่วงแรกๆ จนกระทั่งในที่สุดดังดุตก็สุกงอมและเป็นที่รู้จักอย่างดีตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยมีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างเพลงประเภทอื่นในอินโดนีเซีย
ในขณะที่เนื้อร้องของเพลงดังดุตนั้น ถูกเรียบเรียงขึ้นโดยใช้ภาษาอินโดนีเซียที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ทำให้เพลงประเภทนี้สามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ฟังได้ทุกชนชั้น เรื่องราวในบนเพลงกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของประชาชนอินโดนีเซีย เช่น ปัญหาความยากจน การละเมิดสิทธิมนุษยชน การดิ้นรนต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาการว่างงาน การแก้แค้น การพนัน โสเภณีและการมีชู้ เป็นต้น แม้ว่าดังดุตมีเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคม แต่ก็ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการวิจารณ์แบบบางเบาเมื่อเทียบกับเพลงประเภทอื่นที่มีน้ำเสียงทางการเมืองอย่างดุดัน อย่างไรก็ดี ดังดุตช่วงเริ่มแรกนั้นได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนชนชั้นล่างอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่คนจนเมืองในสลัมและชาวบ้านนอก เพราะเนื้อหาของเพลงสะท้อนชีวิตและค่านิยมของพวกเขา เพราะฉะนั้น ด้วยภาพลักษณ์ที่ผูกพันชนชั้นล่างอย่างเข้มข้น ดังดุตจึงถูกดูแคลนจากชนชั้นกลางในเมืองว่าเป็นผลงานหยาบๆ น่ารำคาญ
ต่อมาในทศวรรษ 1970 ความนิยมต่อดังดุตขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีการประมาณว่ากว่า 75% ของอุตสาหกรรมการบันทึกเสียงในอินโดนีเซียทั้งหมดคือดังดุต ขณะเดียวกัน ความนิยมต่อดังดุตก็ค่อยๆ ขยับคืบคลานไปยังชนชั้นกลางในเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ในไม่ช้าดังดุตก็ได้รับการยกฐานะเป็นเพลงประชาชน โดยเปลี่ยนสถานะอันต่ำต้อยและมีภาพลักษณ์ติดกับคนชั้นล่าง ก้าวขึ้นไปครอบครองหัวใจของประชาชนชาวอินโดนีเซียทั่วๆ ไป นักวิจาณ์หลายคนต่างนิยามดังดุตว่าเป็นดั่งจิตวิญญาณของประชาชนซึ่งไม่จำกัดชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หากแต่เป็นประชาชนอินโดนีเซียทั้งหมด เนื่องจาก ดังดุตนั้นอบอวลไปด้วยค่านิยม ความรู้สึกนึกคิดและวิถีชีวิตของคนอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ฟังหรือแฟนเพลงดังดุตที่ติดตามอย่างเหนียวแน่นและมีขนาดใหญ่คือกลุ่มชนชั้นล่าง เพราะพวกเขาถือว่าดังดุตนำสารและแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกหรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดของพวกเขา แตกต่างจากเพลงป็อปอินโดนีเซียซึ่งเป็นเพลงประเภทหนึ่งของอินโดนีเซียที่พัฒนาและลอกเลียนแบบมาจากเพลงสมัยนิยมตะวันตก ถูกมองว่าไม่มีรากเหง้าที่เชื่อมโยงกับประชาชน
มีนักร้องดังดุตเกิดขึ้นมากมายหลายคน เมื่อดังดุตลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในวงการเพลงอินโดนีเซีย เช่น เอ. ราฟิค (A. Rafiq) มันซูร์ เอส. (Mansyur S.) เอลวี่ สุกาเอสิห์ (Elvi Sukaesih) ตีเตียก ซานดอรา (Titiek Sandhora) เอลล์ยา คาดัม (Ellya Khadam) เป็นต้น แต่คนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือโรมา อิรามา ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาแห่งดังดุต และเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ดังดุตได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ตามมาด้วยการพังทลายของระบบเผด็จการซูฮาร์โต ดังดุตดูเหมือนก้าวมาอีกขึ้นในฐานะพื้นที่การแสดงออกอันเปิดกว้างของเพศหญิง มีนักร้องดังดุตหญิงหน้าใหม่หลายคนเกิดขึ้นและกลายเป็นปรากฎการณ์ดาวดวงใหม่ของวงการดังดุต เช่น อีนูล ดาราติสตา (Inul Daratista) จูเลีย เปเรซ (Julia Perez) เดวี เปอร์สิก (Dewi Persik) และอายู ติงติง (Ayu Ting Ting) เป็นต้น แต่ก็สร้างความไม่สบายใจแก่กลุ่มมุสลิมหัวอนุรักษ์นิยมภายในประเทศ ต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าชักจะเลยเถิด ยั่วยุกามารมณ์ อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการแสดงออกหลังการปกครองแบบเผด็จการก็มีที่ทางแก่พวกเธอเสมอ ขณะเดียวกัน ดังดุตยังคงครองพื้นที่เกิดครึ่งของอุตสาหกรรมดนตรีอินโดนีเซีย ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลแก่อุตสาหกรรมดนตรีอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ความนิยมต่อดังดุตมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น หากแต่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน รวมถึงในประเทศไทยอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชุมชนที่พูดภาษามลายูในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ซึ่งดังดุตได้รับความนิยมมายาวนานตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 1990 ทุกวันนี้ หากใครได้ลงไปยังตัวเมืองหรือตามตลาดนัดบางแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็สามารถหาซื้อเทปคาสเซ็ต ซีดีหรือวีซีดีดังดุตทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซียและของในท้องถิ่นเองมาครอบครองได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เราอาจจะมีโอกาสได้พบกับบรรดานักร้องดังดุตชาวมลายูและได้ยินเพลงดังดุตในภาษามลายูถิ่นปาตานีดังก้องจากสถานบันเทิงยามราตรีที่นั่น แน่นอนว่า ดังดุตท้องถิ่นดังกล่าวนี้เติบโตและกลายเป็นเพลงแนวหนึ่งในโลกของความบันเทิงของชาวมลายูปาตานี แม้ว่าตลาดการบริโภคเพลงดังดุตของคนมลายูมีขนาดกระจิริดมาก เมื่อเทียบกับตลาดเพลงดังดุตอันมหึมาของอินโดนีเซีย แต่ขนาดตลาดเล็กๆ นี้ก็ได้สร้างนักร้องดังดุตมลายูจนมีชื่อเสียงหลายคน
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Weiantraub, A. N. (2010). Dangdut Stories: A Social and Musical History of Indonesia's Most Popular Music. USA: Oxford University Press.
Lockard, C. A. (2001). Dance of Life: Popular Music and Politics in Southeast Asia. USA: University of Hawai'i press.
Wallach, J. (2008). Modern Noise, Fluid Genres: Popular Music in Indonesia, 1997–2001. Wisconsin: The University of Wisconsin Press.