ซีตี นูร์ฮาลิซา (Siti Nurhaliza) ได้ชื่อว่าเป็นนักร้องมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้เลยในช่วงเวลานี้นอกจากนั้น เธอยังเป็นนักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ ดาราโฆษณาและนักธุรกิจหญิงชาวมาเลเซียอีกด้วยตลอดเวลาที่อยู่ในวงการเพลงซีตี นูร์ฮาลิซามีงานเพลงรวมอัลบั้มมากกว่า 16 อัลบั้ม หรือมีงานเพลงถึง 250 เพลงคุณภาพของงานเพลงและความนิยมต่อตัวเธอนั้น ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็น เจ้าหญิงเพลงป็อปมาเลเซีย
ซีตี นูร์ฮาลิซา มีชื่อจริงว่า ซีตี นูร์ฮาลิซา บินตี ตารุดิน (Siti Nurhaliza Binti Tarudin) เกิดเมื่อวันที่11 มกรากคม ปี 1979 ที่เมืองกัวลาลีปิส รัฐปาหัง ประเทศมาเลเซีย ตอนเด็กๆ เธอฝันอยากเป็นตำรวจเยี่ยงบิดา แต่เนื่องจากมีมารดาเป็นนักร้องเพลงพื้นบ้าน จึงทำให้เธอสนใจฝึกร้องเพลงไปด้วยและมักออกร้องเพลงตามงานแต่งงานตามหมู่บ้าน หลังจากมีโอกาสเข้าประกวดแข่งขันร้องเพลงบนเวทีระดับชาติBintang HMI ใน1995ขณะมีอายุเพียง 16 ปี ทำให้เธอได้รับความสนใจจากบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่หลายแห่ง จนในที่สุดซีตี นูร์ฮาลิซาก็ได้ตัดสินออกร้องเพลงอาชีพ ซึ่งพรสวรรค์กับความสามารถของเธอนั้นผลักดันให้เธอกลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในมาเลเซีย
อัลบั้มเพลงชุดแรกของซีตี นูร์ฮาลิซาSiti Nurhaliza (1996) ที่มีเพลงดังอย่างJarat Percintaanขายในมาเลเซียได้มากกว่า 800,000 ตลับ และก็ได้รับรางวัลเพลงยอดเยี่ยมในระดับชาติจำนวนมากทำให้เธอได้รับการจับจ้องจากแฟนเพลงชาวมาเลเซียทันที ต่อมาในปี 2000 สัดส่วนผลงานเพลงของซีตี นูร์ฮาลิซาในตลาดเพลงมาเลเซียคิดได้เป็น 10% ของผลงานเพลงทั้งหมดที่วางขายในตลาดเพลงมาเลเซีย แสดงให้เห็นผลงานเพลงเปี่ยมด้วยคุณภาพของเธอ โดยรวมทั้งหมดในหกอัลบั้มแรกเธอขายได้ถึง 1 ล้านตลับในมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม แฟนเพลงของซีตี นูร์ฮาลิซามิได้มีเพียงแต่ในมาเลเซียเท่านั้นแต่รวมถึงในสิงคโปร์และอินโดนีเซียอีกด้วย โดยเฉพาะในหมู่แฟนเพลงอินโดนีเซีย ชื่อเสียงและผลงานเพลงของเธอนั้นก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง มีการคาดการณ์กันว่าผลงานเพลงของซีตี นูร์ฮาลิซานั้นขายได้ราวๆ 4.9 ล้านตลับในตลาดเพลงทั้งสามประเทศ
นอกจากนี้ ซีตี นูร์ฮาลิซาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อทิศทางของอุตสาหกรรมเพลงในมาเลเซียอย่างน่าสนใจ เริ่มต้นจากการนำเพลงพื้นบ้าน Sri Mersingซึ่งอยู่ในอัลบั้มที่สอง Siti Nurhaliza (1997)มาทำในแบบดนตรีร่วมสมัยนั้นได้รับความสำเร็จอย่างมาก จึงก่อให้เกิดกระแสนิยมในเพลงพื้นบ้านหรือดนตรีชาติพันธุ์ขึ้นกระแสดังกล่าวยังทำให้ในอัลบั้มที่สามCindai(1997) ของซีตี นูร์ฮาลิซาซึ่งนำเสนอเพลงพื้นบ้านแต่ใช้พื้นฐานดนตรีร่วมสมัยกลายเป็นอัลบั้มในความทรงจำอย่างมากที่สุดแห่งช่วงทศวรรษ 1990และเพลงดังอย่าง Cindai ก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเพลงที่ดีที่สุดในยุคนั้นการนำเพลงพื้นบ้านมาเลเซียมาทำใหม่และน้ำเสียงอันไพเราะนุ่มอันน่าทึ่งของเธอยังช่วยผลักดันให้แวดวงอุตสาหกรรมเพลงมาเลเซียหันมาสนใจเพลงพื้นบ้านของมาเลเซียมากขึ้นและทำให้เธอได้ร่วมงานกับศิลปินนักร้องรุ่นพี่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าหญิงเพลงพื้นบ้านมาเลเซียร่วมสมัยอย่างโนรานิซา อีดริส (Noraniza Idris) อีกด้วย โดยในปี 1999 ทั้งสองได้ออกอัลบั้มและแสดงบนเวทีร่วมกัน
ผลงานเพลงคับคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับของซีตี นูร์ฮาลิซาพิสูจน์ได้จากรางวัลชนะเลิศทั้งระดับชาติและระดับเอเชียมาหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นรับรางวัลชนะเลิศAsia New Singer Competition (1999) ที่ประเทศจีนรางวัลชนะเลิศในรายการ Voice of Asia(2002) ที่จัดขึ้นในคาซัคสถานหรือรางวัลชนะเลิศ MTVAsia ที่ชนะเลิศติดต่อมาสี่ปีซ้อนดังนั้นรางวัลต่างๆ ที่เธอได้รับจึงเป็นสิ่งยืนยันในพรสวรรค์และความสามารถของเธอเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ซิตี นูร์ฮาลิซา สามารถร้องเพลงได้ในหลายภาษา ไม่ว่าเป็นภาษามาเลเซีย ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาชวา ภาษาจีนกลาง ภาษาอาหรับ ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษทำให้เธอมีแผนการที่จะก้าวไปสู่เวทีระดับนานาชาติอีกด้วยในปี 2005 เธอได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงบนเวทีRoyal Albert Hallที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แม้ว่าผู้เข้าฟังส่วนใหญ่จะเป็นชาวมาเลเซีย แต่การปรากฏตัวของเธอในครั้งนั้นก็ได้รับความสนใจจากสื่อในอังกฤษ ซึ่งยกให้เธอเปรียบเหมือนกับเชอลีน ดีออน (Celine Dion) นักร้องชื่อดังชาวแคนาดา จากพลังเสียงและความสามารถในการแสดงบนเวทีของเธอนับเป็นก้าวย่างสำคัญในการโลดเล่นบนเวทีความบันเทิงระดับนานาชาติ
สำหรับแวดวงความบันเทิงในประเทศไทย ชื่อของซีตี นูร์ฮาลิซา เป็นที่ติดตามและรู้จักเป็นบางกลุ่มอย่างไรก็ตาม ในการเข้าร่วมงาน MTV Asia ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2005 พลังเสียงที่สะกดคนฟังนั้น ทำให้แฟนเพลงชาวไทยบางคนถึงกับต้องกลับไปค้นหาเพลงของเธอ แม้ว่าผู้ฟังชาวไทยจะมีอุปสรรคทางด้านภาษา แต่ก็ได้รับการยกย่องจากผู้ฟังชาวไทยที่ชื่นชอบเธอว่าเป็นนักร้องที่มีน้ำเสียงไพเราะสะกดคนฟังกระนั้นก็ตาม ชื่อของซีตี นูร์ฮาลิซา ดูเหมือนเป็นที่รู้จักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นานแล้ว เห็นได้จากทั้งเทปคาสเซ็ต ซีดีและวีซีดีเพลงของเธอที่ถูกนำมาวางขายตามตัวเมืองและในตลาดนัด หรือบางทีเราก็อาจได้ฟังเพลงของเธอจากสถานีวิทยุในท้องถิ่น เห็นได้ชัดว่าความนิยมชมชอบต่อผลงานเพลงของซีตี นูร์ฮาลิซา ที่มีอย่างกว้างขวางข้ามเขตแดนประเทศนั้น จึงไม่แปลกที่เธอได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าหญิงเพลงป็อปมาเลเซีย ซึ่งความโดดเด่นดังกล่าวนี้ ทำให้เธอได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ในฐานะ ดาโต๊ะ (Dato) จากสุลต่านแห่งรัฐปาหัง อันเป็นบ้านเกิดของเธอเอง
บัญชา ราชมณี
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Broughton, S., & Ellingham, M. (2000). World Music: Latin & North America, Caribbean, India, Asia and Pacific. London: Rough Guides Ltd.
Clark, M., & Pietsch, J. (2014). Indonesia-Malaysia Relations: Cultural Heritage, Politics and Labour Migration. New York: Routledge.
Connell, J., & Gibson, C. (2003). Sound Tracks: Popular Music Identity and Place. London: Routledge.