คูสโวโย บราเธอร์ (Koeswoyo Brothers) คือกลุ่มพี่น้องนักดนตรีที่รวมตัวกันต่อตั้งวงดนตรี เริ่มแรกในนาม Koes Bersaudara (Koes Brothers) และเป็น Koes Plus ในเวลาต่อมา โดยเป็นวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 ก่อนการมาถึงของสถานีโทรทัศน์เอกชน ที่ในขณะนั้นสามารถรับชมผ่านช่องโทรทัศน์ TVRI ของรัฐบาลเพียงช่องเดียว
พี่น้องคูสโวโยมาเติบโตในย่านตูบัน-เบอเจอเนอกอรอ (Tuban-Negrnegoro) จังหวัดชวาตะวันออก (Jawa Timur) หลังจากนั้นก็ย้ายตามบิดาซึ่งเป็นข้าราชการมาอยู่ที่จาการ์ตา การก่อตั้งวงในระยะแรก ประกอบด้วยจอห์น (John Koeswoyo) โทนนี่ (Tonny Koeswoyo) โนม (Nomo Koeswoyo) โยน (Yon Koeswoyo) และยก (Yok Koeswoyo) ในนามวง Koes Brothers แต่เปลี่ยนเป็น Koes Bersaudara เพื่อมิให้ฟังดูเป็นตะวันตกเกินไป เนื่องจากในช่วงต้นทศวรรษ 1960 นโยบายต่อต้านจักรวรรดินิยมของรัฐบาล ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ในปี 1965 พี่น้องคูสโวโยถูกจับขังคุก 3 เดือน โดยปราศจากการไต่สวน ด้วยข้อหานิยมวัฒนธรรมตะวันตกหลังจากร้องเพลงของวง The Beatle ที่ถูกขอโดยแฟนเพลง อย่างไรก็ตาม พวกเขาถูกปล่อยตัวออกมาก่อนการเกิดรัฐประหารในวันที่ 29 เดือนกันยายน 1965 ประสบการณ์ครั้งนี้ได้รับการถ่ายทอดออกมาในเพลง Di Dalam Bui (1967) หนึ่งในอัลบั้ม To the so Called "the Guilties" ที่นักประวัติศาสตร์ดนตรีอินโดนีเซียยกย่องว่าเป็นงานเพลงร็อคชิ้นเอกของอินโดนีเซีย อีกทั้งเป็นเพลงที่ท้าท้ายอำนาจรัฐบาลอินโดนีเซียโดยตรง
ในปี 1969 โนม มือกลองของวงได้ขอลาออกไปตั้งวงดนตรีของตัวเอง เนื่องจากความขัดแย้งและความบาดหมางภายในพี่น้องคูสโวโย ทำให้โทนนี่ซึ่งเป็นหัวหน้าวงเปลี่ยนชื่อวงจาก Koes Bersaudara ไปเป็น Koes Plus โดยวงได้เมอรี่ (Murry) เข้ามาแทนโนมในฐานะมือกลองประจำวง ช่วงนี้เองที่นักประวัติศาสตร์ดนตรีอินโดนีเซียเชื่อว่าการตีกลองอันหนักหน่วงของเมอรี่ ทำให้วง Koes Plus จึงมีน้ำเสียงไปในแนวเพลงร็อคมากขึ้นควบคู่กับแนวเพลงดั้งเดิมของวงอย่างเฮฟวี่-บัลลาด (Heavy-ballad) อย่างไรก็ดี ผลงานเพลงของพวกเขาในช่วงแรกนั้นไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก มิหนำซ้ำยังถูกบริษัทบันทึกเสียงหลายแห่งปฏิเสธผลงานอีกด้วย จนกระทั่งเมื่อผลงานเพลงของ Koes Plus ถูกนำไปออกอากาศในสถานีวิทยุของรัฐบาล ทำให้พวกเขาค่อยๆ ได้รับชื่อเสียงในระดับประเทศอย่างล้นหลาม
ตลอดช่วงทศวรรษ 1970 พี่น้องคูสโวโยและเมอรี่ในนามวง Koes Plus ได้ออกอัลบั้มรวมกันกว่า 50 อัลบั้ม ทำให้งานเพลงของพวกเขาถูกวางแผงขายมากกว่างานเพลงของนักร้องคนอื่นๆ ที่โลดเล่นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 1974 Koes Plus ออกอัลบั้มถึง 23 อัลบั้มหรือเฉลี่ยเดือนละสองอัลบั้ม ซึ่งมีหลายเพลงเป็นที่จดจำของแฟนเพลง เช่น Dheg Dheg Plas (1969) Tak Mengerti (1970) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Koes Plus ทำอัลบั้มเพลงออกมาหลากหลายแนวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงป็อปมลายู (Pop Melayu) ป็อปชวา (Pop Jawa) ป็อปเกอรอนจอง (Pop Keroncong) หรือป็อปดังดุต (Pop Dangdut) อาจด้วยเหตุผลนี้ ผลงานเพลงของพวกเขาจึงสามารถดึงดูดและเข้าถึงกลุ่มแฟนเพลงทุกชนชั้นทุกแนว กล่าวได้ว่า ในช่วงทศวรรษ 1970 นั้นถือเป็นยุคทองของ Koes Plus อย่างแท้จริง อีกทั้งความโด่งดังของพวกเขาในขณะนั้น แทบไม่มีวงดนตรีกลุ่มไหนจะสามารถหยุดพวกเขาลงได้เลย
แม้ว่าโนม (Nom Coeswoyo) จะกลับมารวมตัวกับพี่น้องคูสโวโยในนาม Koes Bersaudara เป็นครั้งคราว แต่ภาพของ Koes Plus ก็ได้ติดตาฝังหูแฟนเพลงไปแล้ว การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของสี่พี่น้องคูสโวโย (ยกเว้นจอห์น คูสโวโย) จึงไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเช่นในยุค 1960 อย่างไรก็ตาม ความนิยมในวง Koes Plus เองก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ในปี 1987 พี่น้องคูสโวโยก็ได้สูญเสียบุคคลสำคัญของวงไป โทนนี่ คูสโวโย หัวหน้าวงจากไปอย่างสงบต่อหน้าพี่น้องและครอบครัวของเขา ในวัย 51 ปี ด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถูกปล่อยปละละเลยจนอาการเข้าขั้นรุนแรง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการโหมงานเพลงหนักเกินไปตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตอนปั้นปลายชีวิต โทนนี่มีชีวิตอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่ได้สะสมเงินทองสมัยที่ยังรุ่งเรื่องไว้เลย แต่เขาก็ได้ทิ้งมรดกสำคัญแก่วงการเพลงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นล้วนผลงานเพลงระดับคลาสสิคและได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการเพลงอินโดนีเซียอีกด้วย ทุกวันนี้ กลุ่มพี่น้องและลูกหลานคูสโวโยยังคงสืบทอดวงดนตรีของพวกเขา
ในปี 2007 นิตยสาร Rolling Stone Indonesia ได้ยกย่องอัลบั้มและเพลงของพี่น้องคูสโวโย ทั้งในนามวง Koes Bersaudara และ Koes Plus โดยในฐานะอัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาลของวงการเพลงอินโดนีเซีย จำนวน 6 อัลบั้ม ได้แก่ Koes Bersaudara (1964) To The So Called The Guilties (1967) Dheg Dheg Plas (1969) Koes Plus Volume 2 (1970) Koes Plus Volume 4 (1971) และ Koes Plus Volume 5 (1971) ในขณะที่เพลงของพวกเขาได้รับการบรรจุในทำเนียบ 150 เพลง ที่ดีที่สุดตลอดกาลจำนวน 10 เพลง ได้แก่ Bis Sekolah (1964) Di Dalam Bui (1967) Manis dan Sayang (1969) Kembali Ke Jakarta (1969) Kelelawar (1969) Bunga Di Tepi Jalan (1971) Nusantara (1971) Kolam Susu (1973) Pelangi (1972) และ Jemu (1975) กล่าวได้ว่า มรดกของพี่น้องคูสโวโยนั้น ได้มอบประวัติศาสตร์ดนตรีอินโดนีเซียอันรุ่มรวยแก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Robinson, K. (2015). Youth Identities and Social Transformations in Modern Indonesia. Leiden: Brill.
Sen, K., & Hill, D. T. (2007). Media, Culture and Politics in Indonesia. United States: Oxford University Press.
Chun, A., Rossiter, N., & Shoermith, B. (2004). Refashioning Pop Music in Asia: Cosmopolitan Flows, Political Tempos, and Aesthetic Industries. USA and Canada: RoutledgeCurzuon.