ก็อด เบลสส์ (God Bless) คือวงดนตรีร็อคระดับตำนานของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ถึงปัจจุบัน พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงมาอย่างต่อเนื่องและได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากแวดวงอุตสาหกรรมดนตรีอินโดนีเซียมาหลายเวที นักประวัติศาสตร์ดนตรีอินโดนีเซียยกย่องก็อด เบลสส์ ว่าเป็นแบบฉบับวงดนตรีร็อคที่กลายเป็นต้นแบบแก่วงร็อคอินโดนีเซียรุ่นหลังหลายๆ วง
ก็อด เบลสส์ก่อตั้งเมื่อปี 1973 โดยผองเพื่อนนักดนตรีที่รวมตัวกันขึ้นคือ อะฮ์หมัด อัลบาร์ (Ahmad Albar) ฟูอัด ฮัสซัน (Fuad Hassan) ลุดวิก เลอมานส์ (Ludwig Lemans) ดอนนี่ ฟัตตาห์ (Donny Fattah) และ โจกี้ ซูร์โจปราโจโก (Jockie Soerjoprajogo) นักดนตรีคนหลังสุดที่ได้รับการเชิญเข้ามาร่วมวง หลังจากเปลี่ยนชื่อวงจากเครซี่ วีลล์ (Crazy Wheels) มาเป็นก็อด เบลสส์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1973 พวกเขาออกแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม Taman Ismail Mazuki และตามเวทีต่างๆ อีกหลายที่ อย่างไรก็ตาม ปีถัดมาสถานการณ์ในวงก็อด เบลลส์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อหนึ่งในสมาชิกของวงรุ่นก่อตั้ง ลุดวิก เลอมานส์ ลาออกจากวงกลับไปยังที่เนเธอแลนด์ ตามมาด้วยข่าวเศร้าคือ โซมาน ลูบิส (Soman Lubis) ผู้เข้ามาแทนโจกี้ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านั้นและฟูอัดก็มาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตทั้งคู่ ทำให้เหลือสมาชิกในวงเพียงสองคนคือ อะห์หมัดกับดอนนี่ ด้วยเหตุนี้ โจกี้จึงถูกชักชวนเข้ามาร่วมวงอีกครั้งพร้อมกับนักดนตรีอีกสองคน เอียน อันโตโน (Ian Antono) และ เท็ดดี้ สุจายา (Teddy Sujaya)
หลังจากก็อด เบลสส์ได้รับเกียรติขึ้นแสดงคอนเสิร์ตบนเวทีร่วมกับ Deep Purple วงเฮฟวี่เมทัลระดับตำนานจากอังกฤษที่กรุงจาการ์ตาในปี 1975 ปีถัดมาพวกเขาก็ได้ออกอัลบั้มแรกอย่างเป็นทางการ โดยมีเพลงเด่นๆ ในอัลบั้มแรกนี้ ซึ่งยังเป็นที่จดจำหลายเพลง เช่น Huma Di Atas Bukit (1976) Setan Tertawa (1976) และ Rock Di Udara (1976) เป็นต้น การปรากฏตัวของก็อด เบลสส์ครั้งนั้น ได้รับการจับตามองจากสื่ออินโดนีเซียอย่างกว้างขวาง นิตยสารชื่อดังอย่าง Tempo ถึงกับเขียนอุทิศเรื่องราวและลงรูปบนหน้าปกให้แก่อะฮ์หมัด อัลบาร์ นักร้องนำของวง หลังจากนั้นอีกสี่ปีต่อมา ก็อด เบลสส์ก็ได้ออกอัลบั้ม Cermin (1980) สะท้อนอิทธิพลทางดนตรีจาก Deep Purple และ Van Halen วงดนตรีฮาร์ดร็อคสัญชาติอเมริกัน ในแนวเพลงรักแบบช้าๆ ตามแบบบัลลาด (Ballad) แต่อัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุดก็คืออัลบั้มที่สาม Semut Hitam (1988) ซึ่งมีเพลงดังจนใครต่อใครทั่วบ้านทั่วเมืองสามารถร้องตามได้จนถึงทุกวันนี้ เช่น Semut Hitam (1988) Rumah kita (1988) และ Kehidupan (1988) เป็นต้น
ก็อด เบลสส์ได้รับการเชิดชูว่าเป็นวงร็อคอินโดนีเซียคลาสสิกระดับตำนานหนึ่งเดียว ที่มีอายุยืนยาวและสามารถแข่งขันกับวงร็อคยุคหลังๆ ได้อย่างแข็งแกร่ง อะฮ์หมัด อัลบาร์หรือที่เพื่อนๆ เรียกเขาว่า “อีเย็ก” (Iyek) ได้รับการยกย่องในฐานะนักร้องนักดนตรีที่มีความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่สื่ออินโดนีเซียบางสำนักขนานนามเขาว่า “เจ้าพ่อเพลงร็อค” (Godfather of Rock) อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์เพลงมองว่าการยืนหยัดมาอย่างยาวนานของก็อด เบลสส์ นั้น เป็นผลจากความมีมิตรภาพภายในวงและการมีมิตรรักแฟนเพลงข้ามรุ่นข้ามอายุที่คอยสนับสนุนพวกเขาเสมอมา แม้ว่าสมาชิกในก็อด เบลสส์ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสังคม การเมืองและวัฒนธรรม ตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารจนถึงยุคประชาธิปไตย หรือความขัดแย้งและความขื่นขมที่เกิดขึ้นในวง หากแต่กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่ากว่าพวกเขาจะก้าวขึ้นมาสู่ดวงดาวได้นั้น หลายสิ่งหลายอย่างเหล่านี้คือบททดสอบสำคัญของการกลายมาเป็นตำนานอันยืนยงนั่นเอง
ในปี 2004 ก็อด เบลสส์จัดแสดงคอนเสิร์ตบนเวทีกลางแจ้ง เพื่อระลึกการก่อตั้ง Search วงดนตรีร็อคจากมาเลเซียขึ้น และสำหรับการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ได้รับการบันทึกไว้ว่า มีผู้เข้าชมการแสดงของพวกเขามากที่สุด สะท้อนความนิยมที่ยังไม่เสื่อมคลาย ต่อมาในปี 2009 พวกเขาออกอัลบั้ม 36th ตรงกับการครบรอบปีในการตั้งวงก็อด เบลสส์ 36 ปีเต็ม ในปีเดียวกันนั้นเอง นิตยสาร Rolling Stone Indonesia จัดอันดับให้เพลงของอะห์หมัด อัลบาร์และวงก็อด เบลสส์ ขึ้นไปอยู่ในทำเนียบเพลงอินโดนีเซียที่ดีที่สุดตลอดกาลจากทั้งหมด 150 เพลง ซึ่งมีเพลงดังๆ หลายเพลงรวมอยู่ในนั้น เช่น Kehidupan (1988) และ Rumah Kita (1988) เป็นต้น นับว่าเป็นเกียรติประวัติอันทรงสูงที่พวกเขาได้รับ เมื่อไม่นานมานี้ ก็อด เบลสส์ก็ได้จัดคอนเสิร์ตครบรอบ 42 ปี ของวงอีกครั้งเมื่อปี 2015 ที่โรงละคร Panggung Sandiwara ซึ่งยังคงดึงดูดแฟนเพลงจำนวนมหาศาลเข้าร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเขาเช่นเคย
การขึ้นมาของก็อด เบลสส์ เกิดขึ้นในยุคที่ดนตรีแนวร็อค เฮฟวี่เมทัล หรือฮาร์ดร็อคกลายเป็นกระแสทางดนตรีที่สพรั่งไปทั่วโลก แม้กระทั่งในประเทศไทยที่เริ่มต้นตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามหรือประมาณทศวรรษ 1970 ซึ่งกระแสดนตรีเหล่านี้ไหลทะลักมาจากทั้งฝั่งอเมริกาและอังกฤษ ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองระบบเผด็จการโดยซูฮาร์โต แต่กลับกลายเป็นช่วงแห่งการเปิดกว้างของวัฒนธรรมและค่านิยมแบบตะวันตก ภายหลังจากที่วัฒนธรรมตะวันตกเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคของซูการ์โนซึ่งมีนโยบายต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก ดังที่พบว่านักร้องหลายคนถูกปรับและจำคุก อย่างไรก็ดี นักร้องหรือนักดนตรีไทยที่เติบโตร่วมสมัยกับก็อด เบลสส์ แห่งอินโดนีเซียนั้น หลายๆ คนก็เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี เช่น กีตาร์คิงส์ แหลม มอริสัน, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เจ้าของเพลงฮิตอย่างลุงคิดกับหลานชิดชัย เป็นต้น แน่นอนว่า ผลงานเพลงของพวกเขากลายเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่อาจมองข้าม
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Hobar, M., & Fox, R. (2008). Entertainment Media in Indonesia. New York: Routledge.
Sen, K., & Hill, D. T. (2007). Media, Culture and Politics in Indonesia. United States: Oxford University Press.
Weintraub, A. N. (2011). Islam and Popular Culture in Indonesia and Malaysia. New York: Routledge.
Hatley, B., & Hough, B. (2015). Performing Contemporary Indonesia: Celebrating Identity, Constructing Community. Leiden: Brill.