อาหมัด บิน โมฮัมหมัด อาร์ซาด (Ahmad Bin Mohd Arshad) เขาเกิดและเติบโตในอำเภอยาน รัฐเคดะห์ของมาเลเซีย เขามีฉายาว่า มัต คอมานโด (Mat komando) เนื่องจากในช่วงที่เขายังเป็นวัยรุ่น เขาสมัครเข้าไปเป็นทหารของกองทัพและประจำการอยู่หลายปี ก่อนเขาจะใช้เส้นสายเพื่อนำทางเข้าสู่หน่วยคอมานโดและฝึกฝนอยู่เป็นเวลาสองปี จนเขาลาออกจากกองทัพอย่างไม่ทราบสาเหตุ
ต่อมาเขาแต่งงานกับฟาริดะห์ มัต เปียห์ (Faridah Mat Piah) และมีลูกด้วยกัน ซึ่งลูกเป็นผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัวทำให้เขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวของเขา เช่น การขับขี่รถบรรทุก รถโดยสารและรถแท็กซี่ หลังเริ่มขับรถได้ไม่นานเขาเริ่มใช้ยาเสพติดในระหว่างทำงานจนเขาฝันถึงงานที่จะตอบสนองทั้งความรักใช้ชีวิตที่เสี่ยงอันตรายและความปรารถนาต่อกามตัณหาของเขา ด้วยความทะเยอทะยานดังกล่าวทำให้เขาลาออกจากงานและก่อตั้งแก๊ง 13 เป็นองค์กรรูปแบบทหาร และมีอาวุธผิดกฎหมายไว้ในครองครอง
แก๊ง 13 ของ มัต คอมานโด เริ่มงานแรกด้วยการจู่โจมสถานีควบคุมระยะไกลของนิคมกสิกรรมปาล์มน้ำมันในรัฐเกดะห์และปล้นเงินสดไปจำนวนมาก จากนั้นความทะเยอทะยานของพวกเขาเริ่มสูงขึ้นด้วยการปล้นธนาคาร โรงรับจำนำ จุดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สำนักงานไปรษณีย์และกิจการของเอกชน การคดีก่ออาชญากรรมของแก๊งเริ่มขยายครอบคลุมเจ็ดรัฐ ตั้งแต่รัฐเกดะห์ รัฐเปอร์ลิส รัฐปีนัง รัฐยะโฮร์ รัฐเนอเกอรี เซิมบิลัน รัฐเประห์และรัฐกลันตัน ในช่วงปี 2001-2002 แก๊งของ มัต คอมานโด ก่อคดีปล้นอาวุธเท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ถึง 52 ครั้งและปล้นเงินอีกกว่า 2.5 ล้านริงกิต ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความกล้าหาญของสมาชิกแก๊งที่จะไม่สวมหน้ากากปกปิดใบหน้าในระหว่างการปล้น ด้วยการปล้นอย่างต่อเนื่องของพวกเขาทำให้ มัต คอมานโด หัวหน้าแก๊ง 13 เป็นคนที่ตำรวจมาเลเซียต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งในขณะนั้น
กลางปี 2001 ตำรวจมาเลเซียตั้งหน่วยพิเศษออพซ์ อาปี ซาวี (Ops Api Sawi) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อตามล่า มัต คอมานโด และแก๊งของเขาอย่างเร็วที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าหน่วยนี้ใช้เวลาถึง 255 วัน ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติงานที่ใช้เวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย หน่วยพิเศษนี้เริ่มต้นด้วยการหาตัวมัตในรีสอร์ทแห่งหนึ่งบริเวณทะเลสาบเปดู รัฐเกดะห์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการตรวจสอบชีวิตประจำวันของเพื่อนและครอบครัวของเขา หลังจากเขาโดนกำลังตำรวจโอบล้อมอยู่ในกระท่อมบนภูเขา จนเกิดการยิงปะทะอย่างรุนแรง ทำให้สมาชิกแก๊งหลายคนถูกฆ่าตาย แต่ตัวเขารอดตายจากการหนีเข้าป่าไปได้ ตำรวจแยกเป็นหน่วยย่อยเพื่อทำการค้นหาตัวเขาทั้งการใช้สุนัขดมกลิ่น การค้นหาทางอากาศและทีมเซอนอย ปราอาก (Senoi Praaq) ทีมแกะรอยระดับตำนานของตำรวจมาเลเซีย หลังการปฏิบัติงานอยู่ 10 วัน ตำรวจจึงหยุดการค้นหาในวันที่1 มกราคม 2002 เนื่องจากมีรายงานจากตำรวจในเขตบูกิต เซอลัมบัว (Bukit Selambau) และบริเวณถนนกูบีร (Gubir) อำเภอเนอรัง รัฐเกดะห์ ว่ามีสมาชิกแก๊งสามคนถูกยิงเสียชีวิต หนึ่งในนั้นพี่ชายแท้ๆ ของเขาชื่อ อิสมาอิล โมฮัมหมัด เปียห์ (Ismail Md Piah)
ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากนั้นภรรยาของเขา กับฟาริดะห์ มัต เปียห์ อายุ 34 ปี และพ่อของเขาโมฮัมหมัด เปียห์ เช นัม (Md Piah Che Nam) วัย 72 ปี ทั้งสองถูกควบคุมตัว และเข้ายื่นอุทธรณ์ พร้อมการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ฮาเรียน เมโทร เพื่อให้เขายอมจำนนต่อเจ้าหน้าที่
วันที่ 5 สิงหาคม 2002 เขาถูกตรวจพบอีกครั้งในหมู่บ้านเจอมัส อำเภอตัมปิน รัฐเนอเกอรี เซิมบิลัน ในระหว่างการประชุมของเขากับโมฮัมหมัด ชูกรี ฮุสเซน (Mohd Shukri Husain) รวมทั้งสมาชิกที่เหลือของแก๊งอีก 31 คน พวกเขาถูกตำรวจล้อมจับกุม แต่ มัต คอมานโด สามารถหลบหนีผ่านวงล้อมและดงกระสุนของตำรวจออกมาได้ ต่อมาฮุสเซนให้การซัดทอดเขา และบอกที่หลบซ่อนตัวของให้แก่ตำรวจ ต่อมาในช่วงรุ่งสางของวันที่ 12 กันยายน 2002 เจ้าหน้าที่ 10 นายจากหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย หรือหนว่ย VAT69 พร้อมกับกองกำลังตำรวจในพื้นที่เข้าบุกกระท่อมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ มัต คอมานโด ใช้หลบซ่อนตัว เขาได้บอกกับเพื่อนๆ ของเขาว่าสถานการณ์ค่อนข้างเสี่ยงที่จะโดนฆ่าตายให้เข้ายอมจำนนกับตำรวจจะดีกว่า แต่ตัวเขากลับถือปืนโคลท์จุด 45 (Colt .45) ในมือซ้ายและปืนสมิทแอนด์แวสสันจุด 22 (Smith & Wesson .22) ในมือขวาของเขา เพื่อเข้าเผชิญหน้ากับตำรวจตามแบบฉบับภาพยนตร์ของจอห์น วู ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวฮองกงอย่างเรื่อง กระบี่ไร้เทียมทาน เป็นต้น (John Woo) เขาถูกยิงสองนัดเข้าที่ศีรษะและบริเวณหน้าอกจนเสียชีวิตในวัย 37 ปี
อาหมัด บิน โมฮัมหมัด อาร์ซาด (Ahmad Bin Mohd Arshad) เขาเกิดและเติบโตรัฐเคดะห์ของมาเลเซีย เขามีฉายาว่า มัต คอมานโด (Mat komando) ด้วยการดิ้นรนสู้ชีวิตทำให้เขาหลงผิด นำตัวเองเข้ามาสู่วงการอาชญากรรมและก่อตั้งแก๊งของตนเอง อันมีประวัติฉาวโฉ่เป็นจำนวนมาก เขาจบชีวิตลงในช่วงวัยกลางคนด้วยอายุเพียง 37 ปี
ฐิติพงศ์ มาคง
พฤษภาคม 2559