การประชุมเจนีวา 1954 (Geneva Conference 1954) เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อมุ่งแก้ปัญหาในเอเชีย โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีรวมไปถึงการร่วมกันหาทางออกเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคอินโดจีนที่ตกอยู่ในสภาวะสงครามเป็นเวลานาน ในการประชุมดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้เข้าประชุมที่เป็นตัวแทนจากมหาอำนาจสำคัญของโลกในช่วงเวลาดังกล่าว อันได้แก่ สหภาพโซเวียต สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน ร่วมดัวยกับตัวแทนจากประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาในการประชุม อาทิ เวียดนาม โดยสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมดังกล่าวส่งผลให้อนุภูมิภาคอินโดจีนหลุดพ้นอิทธิพลของฝรั่งเศสนับแต่นั้นมา
ในการสู้รบที่เดียนเบียนฟูระหว่างกองกำลังของฝรั่งเศสกับกองกำลังเวียดมินห์ ท่าทีที่เริ่มจะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบของฝ่ายฝรั่งเศสทำให้สหรัฐอเมริกาผู้เป็นพันธมิตรเริ่มหาหนทางที่จะสร้างความได้เปรียบขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยความพยายามที่จะดึงชาติอื่นๆ เข้ามาพัวพันกับปัญหาในอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สหราชอาณาจักร โดยอ้างว่ากระบวนการดังกล่าวเป็น “ปฏิบัติการร่วม” อย่างไรก็ตาม การมุ่งทำสงครามในอินโดจีนของฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในระดับโลก นโยบายการทำสงครามดังกล่าวสวนทางอย่างยิ่งกับความเห็นสากลในขณะนั้นที่ต้องการจะให้เกิดสันติภาพในบริเวณดังกล่าว ในกลุ่มพันธมิตรของฝ่ายชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรที่เดิมสหรัฐอเมริกาต้องการจะให้เข้าร่วมการทำสงคราม กลับมีความเห็นที่สวนทางกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา โดยทางรัฐบาลลอนดอนได้สนับสนุนให้มีการเจรจาเพื่อยุติปัญหาการสู้รบในเวียดนาม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะต่อต้านการแนวทางดังกล่าว ความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟูได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลลอนดอนผลักดันให้ประเด็นปัญหาในอินโดจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
การประชุมเจนีวาเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1954 หลังจากที่ฝรั่งเศสประกาศยอมแพ้ในสมรภูมิเดียบนเบียนฟู โดยในการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในอินโดจีน เวียดนามได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยส่ง ฝ่าม วัน ด่ง (Phạm Văn Đồng) ในฐานะตัวแทนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามและผู้อธิบายสถานะของเวียดนาม ในเวลาต่อมาฝรั่งเศสก็มีท่าทีที่จะเข้าร่วมการประชุมมากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปิแอร์ มองแดส์ ฟรองซ์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำฝรั่งเศส เขาได้ประกาศบรรลุเป้าหมายสันติภาพภายในเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งในเวลาต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม ก็ได้มีการลงนามของชาติที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวในข้อตกลงเจนีวา 1954
ขั้นตอนต่างๆในการประชุมและการเจรจาที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 3 เดือน ดำเนินไปอย่างซับซ้อนยุ่งยาก อย่างๆไรก็ตามการเจรจาดังกล่าวก็บรรลุผลสำเร็จในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ในแง่ของการสู้รบระหว่างฝ่ายเวียดมินห์กับฝรั่งเศส ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นอันจบไป ด้วยการที่ฝรั่งเศสที่ทางหนึ่งก็บอบช้ำจากการทำสงครามจะต้องยอมรับในอธิปไตยของเวียดนามและรัฐอื่นๆ อีกสองรัฐในอินโดจีน ซึ่งหมายถึง อิทธิพลของฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคมอินโดจีนจะหายไปและจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดนามได้มาถึงจุดที่ล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเจนีวา 1954 ทำได้เพียงแค่ไม่ให้สงครามในเวียดนามกลายเป็นสงครามนานาชาติ แต่ก็ยังมิอาจยับยั้งความขัดแย้งซึ่งจะพัฒนาเป็นสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา ผลของข้อตกลงอีกประการหนึ่งคือ การแบ่งเขตเวียดนามออกเป็นสองเขต ได้แก่ เวียดนามเหนือหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามซึ่งเป็นเขตปกครองของขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม และสาธารณรัฐเวียดนามซึ่งเป็นเขตปกครองของรัฐบาลบ๋าวได่ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งในข้อตกลงดังกล่าวได้ระบุให้ทั้ง 2 เขตรวมตัวกันภายหลังจากการเลือกตั้งที่จะถูกจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1956
ข้อตกลงเจนีวา ที่มีการลงนามในปี ค.ศ. 1954 ทำให้ความขัดแย้งในอินโดจีนอยู่ในสภาวะผ่อนคลายเป็นระยะเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้บรรลุถึงจุดประสงค์ของฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างแท้จริง ในแง่ของบูรณภาพของเวียดนามทั้งหมด การละเมิดข้อตกลงเจนีวาด้วยการสถาปนาสาธารณรัฐเวียดนามของฝ่ายเวียดนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและการไม่ยอมดำเนินตามแนวทางการรวมประเทศที่มีได้วางไว้ในข้อตกลงที่เจนีวา ทำให้ความขัดแย้งในอินโดจีน โดยเฉพาะในเวียดนามได้เริ่มรุนแรงจนกลายเป็นสงครามขึ้นอีกครั้ง สงครามดังกล่าวบานปลายยิ่งขึ้นเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซง สงครามดังกล่าวซึ่งเป็นผลสะท้อนของความล้มเหลวส่วนหนึ่งแม้จะไม่ทั้งหมดของข้อตกลงเจนีวา ได้ดำเนินต่อมาจนถึง ปี ค.ศ. 1975 เมื่อกองกำลังเวียดกงของเวียดนามเหนือสามารถบุกยึดไซง่อนได้สำเร็จ
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559