กลอเรีย มาชาปากัล อาร์โรโย หรือที่รู้จักกันในชื่อ กลอเรีย อาร์โรโย เป็นประธานาธิบดีคนที่ 14 และประธานาธิบดีหญิงคนที่ 2 ของฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปี 2010 ก่อนหน้านี้เธอดำรงดำตำแหน่งรองประธานาธิบดีของนายโจเซฟ เอสตราดา โดยอาร์โรโยเริ่มต้นทำงานที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ก่อนจะได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกในปี 1992 และปี 1995 เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายการต่อต้านการคุกคามทางเพศ กฎหมายสิทธิคนพื้นเมือง เป็นต้น
เกิดเมื่อ 5 เมษายน 1947 ในจังหวัดซานฮวนของฟิลิปปินส์ เธอเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เธอมีบิดาคือ นายดิออสดาโด มากาปากัล อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 9 ของฟิลิปปินส์ และมารดาคือ นางอีวาเกลิน่า ในวัยเด็กของเธอที่เธออาศัยอยู่ในเมืองอิลิแกนกับคุณยายตั้งแต่อายุ 4 ปี ต่อมาในปี 1961 เธอย้ายอาศัยมาอาศัยอยู่กับบิดามารดาในกรุงมะนิลาหลังจากที่บิดากลายเป็นประธานาธิบดี เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ในกรุงมะนิลา หลังจบการศึกษาในปี 1964 เธอเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนวอลช์ ในสาขาต่างประเทศภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ของสหรัฐอเมริกา จากนั้นเธอเข้าศึกษาต่อที่อัสสัมชันในเมืองมาคาติ ที่ฟิลิปปินส์และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 1968 ต่อมาเธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอเทนีโอเดอมะนิลา ในปี 1978
หลังอาร์โรโยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีคอราซอน อากีโน ได้เสนอให้เธอเข้าดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งอาร์โรโยก็ยอมเข้ารับตำแหน่ง ในปี 1987 ก่อนที่เธอจะได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกในปี 1992 และปี 1995
ในปี 1998 อาร์โรโยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ครั้งแรก แต่ก็ถูกโน้มน้าวให้เปลี่ยนมาลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแทน ซึ่งเธอก็ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายจนได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในสมัยประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา
ผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในสมัยประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงการคดีคอรัปชั่นของนายเอสตราดา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาล กองทัพและตำรวจหันมาสนับสนุนนางอาร์โรโยแทน กระทั่งนายโจเซฟ เอสตราดา ถูกถอดออกจากตำแหน่ง และในวันที่ 20 มกราคม 2001 นางกลอเรีย อาร์โรโย เป็นประธานาธิบดีคนคนที่ 14 ของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้นายเอสตราดา ได้ถูกจับกุมตัวทันทีหลังการคุ้มกันในฐานะประธานาธิบดีหมดลง
แต่เธอก็ต้องเผชิญกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่สนับสนุนนายเอสตราดา ซึ่งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวและให้เธอลาออกจากตำแหน่ง จนทำให้ตำรวจและทหารต้องใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่ความพยายามกดดันเธอให้ลาออกจากตำแหน่งยังไม่หมดลง ในเดือนกรกฎาคม 2003 ทหารจำนวนกว่า 300 นาย เข้ายึดพื้นที่โรงแรมมะนิลาและเรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่ง ผลของเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและหัวหน้าหน่วยข่าวกรองลาออกจากตำแหน่ง
ในปี 2004 เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของเธอสิ้นสุดลง นางอาร์โรโยได้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งเธอก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัย ซึ่งเธอสามารถทำให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ นอกจากนี้เธอยังถูกกล่าวหาว่าซื้อเสียงและโกงการเลือกตั้ง
ในปี 2006 อาร์โรโยจัดการกับการทำรัฐประหารและเธอประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศฟิลิปปินส์นานหนึ่งสัปดาห์ ต่อมาในปี 2009 เธอประกาศใช้กฎอัยการศึกในมินดาเนา เนื่องจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มากินดาเนา โดยเป็นฝีมือของตระกูลอัมปาตูอันซึ่งเป็นฐานเสียงให้กับเธอ และตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับตระกูลอัมปาตูอัน
หลังหมดวาระในปี 2010 เธอยังคงดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 2 นับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของฟิลิปปินส์ที่ยอมรับตำแหน่งทางการเมืองต่ำกว่าตำแหน่งเดิม จากนั้นในปี 2012 นางอาร์โรโยและสามีของเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยักยอกเงินจากบริษัทโทรคมนาคมในประเทศจีน และในปีเดียวกันนี้เธอก็ยังถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของเงิน 8.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งได้มาจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ต่อมาเธอเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และถูกย้ายไปรักษาตัวที่ศูนย์การแพทย์อนุสรณ์สถานทหารผ่านศึก เพื่อกักตัวไว้สำหรับดำเนินคดีดังกล่าว ในปี 2013 เธอยังถูกจับกุมตัวในข้อหาทุจริตการเลือกตั้งและถูกกักบริเวณในโรงพยาบาลเนื่องจากสุขภาพของเธอไม่ดี อย่างไรก็ตามอาร์โรโยยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และยังถูกกักบริเวณ ทำให้ไม่สามารถส่งไปรักษาตัวในต่างประเทศได้
กลอเรีย มาชาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีคนที่ 14 ดำรงตำแหน่งต่อจากนายโจเซฟ เอสตราดา หลังเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองอย่างหนัก แต่เธอก็สามารถคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นลงไปได้ จากนั้นในปี 2010 อาร์โรโยลงจากอำนาจ พร้อมทั้งถูกดำเนินคดีคอรัปชั่นอย่างต่อเนื่อง และถูกกักไม่ให้ออกนอกประเทศ
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
DIVA. (2556, มกราคม 17). กลอเรีย อาร์โรโย สตรีดินแดนแห่งไข่มุกตะวันออกไกล. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก:
http://www.hiclasssociety.com/?p=24646.
Encyclopedia of World Biography. Gloria Macapagal-Arroyo. [Online]. Search on 21 July 2016.
Retrieved from: http://www.encyclopedia.com/topic/Gloria_Macapagal-Arroyo.aspx
The famous people. Gloria Macapagal-Arroyo Biography. [Online]. Search on 20 July 2016,
Retrieved from: http://www.thefamouspeople.com/profiles/gloria-macapagal....